จับตาผลเลือกตั้งกัมพูชา 23 ก.ค.66 "ฮุนเซน" ลุ้นนั่งนายกฯต่อปีที่39

23 ก.ค. 2566 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 08:39 น.

กัมพูชามีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566 แต่กลับถูกกล่าวหาว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้นพอเป็นพิธีเท่านั้น เพราะถึงอย่างไร พรรค CPP ของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี ก็ตั้งท่ากวาดชัยชนะแบบนอนมาตั้งแต่ต้นแล้ว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

 

การกล่าวหาว่า เลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา ในปีนี้เป็นการเลือกตั้งจอมปลอม และล็อคผลมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) หรือ CPP ของนายกรัฐมนตรี สมเด็จฮุน เซน จะต้องเป็นผู้ชนะอย่างลอยลำ เพื่อให้เขาได้ สืบทอดอำนาจ ต่อไปนั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ดังนี้

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่สุด ก็คือ การที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของฮุน เซน ถูกสกัดทุกหนทางก่อนหน้านี้ ทำให้ไม่สามารถเข้าลงสมัครรับเลือกตั้ง และมีผลให้พรรค CPP กลายเป็นพรรคใหญ่ที่เป็นทางเลือกให้ประชาชาชนได้กาบัตรลงคะแนนเพียงรายเดียวในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้ยังมี 17 พรรคการเมืองในบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง แต่พรรคเหล่านั้นก็ล้วนเป็นพรรคขนาดเล็ก หรือเป็นพรรคที่ไม่มีนัยสำคัญใด ๆ เลย

สมเด็จฮุน เซน เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดของโลก เขาเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามา 38 ปีแล้ว

ย้อนกลับไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮุน เซน ได้เปิดฉากปราบปรามพรรคฝ่ายค้านครั้งรุนแรงที่สุดในชีวิตการเมืองของเขา หวังทำลายล้างคู่แข่งทางการเมืองให้สิ้นซาก หลังต้องเผชิญกับกระแสนิยมของพรรคฝ่ายค้านที่พุ่งสูงขึ้น ในปี 2017 เขาจึงใช้อำนาจศาลสั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNPR) พร้อมสั่งขับ สส. พ้นจากรัฐสภา และจับกุมแกนนำพรรคฝ่ายค้านและผู้เห็นต่างทางการเมือง นายเกิม โซะคา หัวหน้าพรรค CNPR ถูกจับในข้อหากบฏ สมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ ในการโค่นล้มรัฐบาล ทำให้ สส. หลายสิบคนของพรรคพากันลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน หนึ่งในนั้นคือ นายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรค CNRP ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2015 ก่อนลาออกจากสมาชิกพรรคในเดือน ก.พ. 2017

ผลของการกวาดเสี้ยนหนามในครั้งนั้น ทำให้พรรค CPP ของนายกฯฮุน เซน ลงสนามเลือกตั้งปี 2018 แบบไร้คู่แข่ง กวาดที่นั่ง “ทั้งหมด” ในสภาผู้แทนราษฎร 125 ที่นั่ง

การเลือกตั้งเวียนกลับมาอีกครั้งในปีนี้ (2023) เหตุการณ์เกิดขึ้นคล้ายๆกันเหมือนภาพทับซ้อนกับปี 2018 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กัมพูชา สั่งตัดสิทธิพรรคแสงเทียน (Candlelight Party: CP) ที่เป็นคู่แข่งขันสำคัญเพียงรายเดียวที่มีพลังพอจะท้าทายพรรครัฐบาล ทั้งนี้ ศาลตัดสิทธิไม่ให้พรรคแสงเทียนลงทะเบียนสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลว่า ทางพรรคยื่นเอกสารที่จำเป็นไม่ครบถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวกัมพูชาจึงเหลือเพียงพรรค CPP เป็นทางเลือกเดียวอีกครั้ง ดังนั้น มันจึงเป็นการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดผลไว้แล้ว เพราะไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง มาเป็นคู่ต่อสู้

การสืบสานอำนาจและทายาททางการเมือง

สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถึงวันนี้อายุกว่า 70 ปีแล้ว แม้โดยภาพรวมดูยังแข็งแรง แต่เขาก็มีรายงานข่าวการรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง รวมทั้งการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ในปี 2017 และล่าสุด การติดโควิด-19 จนต้องยกเลิกการเดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมประชุมเอเปคในปี 2022

อย่างไรก็ตาม เขาเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดของโลก โดยสมเด็จฮุน เซน ปกครองกัมพูชามาแล้ว 38 ปี นับจากก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1985 โดยขณะนั้นมีอายุเพียง 33 ปี

สมเด็จฮุน เซน (ซ้าย) และบุตรชายคนโต พลเอกฮุน มาเนต ผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายาวนาน ฮุน เซน รวบรวมอำนาจจนเป็นปึกแผ่นผ่านเครือข่ายผลประโยชน์ รวมถึงทหาร ตำรวจ และหน่วยข่าวกรอง ขณะเดียวกันเขาได้เห็นฝ่ายตรงข้ามถูกจำคุก ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ หรือถูกบีบให้แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล

นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า กัมพูชาเป็นรัฐอำนาจนิยมพรรคเดียว ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว ฮุน เซน ก็ไม่ต่างกับเผด็จการ

สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ รายงานว่า กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในเอเชีย ประชาชนต่างต้องดิ้นรนต่อสู้กับราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นสวนทางค่าจ้างที่ตกต่ำ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นวงกว้าง การกอบโกยที่ดิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น แต่แม้ปัญหาจะมากมายขนาดนั้น ทุกคนต่างรู้ดีว่าการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้ ชัยชนะจะตกเป็นของพรรค CPP อีกครั้งอยู่ดี

“พอเป็นแบบนี้ ทำให้เราไม่มีตัวแทนไปเป็นปากเสียงในสภา คนที่จะช่วยบอกเล่าปัญหาของประชาชน ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ...นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผู้คนถึงพากันนิ่งเงียบในเวลานี้” ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับสื่อ

สื่อต่างประเทศรายงานก่อนหน้านี้ว่า สมเด็จฮุน เซน หมายมั่นปั้นมือจะสนับสนุนและส่งมอบอำนาจให้นาย ฮุน มาเนต วัย 45 ปี บุตรชายคนโตซึ่งเป็นนายพลระดับ 4 ดาวในปัจจุบัน สืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากเขาหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ แต่จะเป็นวัน-เวลาใดที่ฮุน เซน จะยอมวางมือนั้น ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ฮุน เซน เป็นคนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และมีความอดกลั้นสูง และมีแรงพยาบาทมากขึ้นเมื่อยุคสมัยของเขาใกล้สิ้นสุดลง

รายงานฉบับล่าสุดของฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า “รัฐบาล(กัมพูชา)ได้ยกระดับการคุกคามและจับกุมสมาชิกพรรคตามอำเภอใจ” และเมื่อพรรคแสงเทียนหมดสิทธิลงสนามเลือกตั้ง สมเด็จฮุน เซน ก็หมกมุ่นอยู่กับการเบี่ยงเบนประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จากโพลสำนักต่าง ๆ ที่ชี้ว่า ประชาชนอาจออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย หรือจำนวนบัตรเสียอาจมีมากขึ้น

ทั้งนี้ การสนับสนุนการคว่ำบาตร (บอยคอต) การเลือกตั้งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในกัมพูชา และการทำลายบัตรเลือกตั้ง ก็มีโทษปรับสูงถึง 20 ล้านเรียล (ราว 1.7 แสนบาท) และอาจถูกตัดสิทธิเข้ารับราชการด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงเห็นได้ชัดแล้วว่า เหตุใดชัยชนะแบบ "นอนมา" จึงน่าจะตกเป็นของพรรค CPP ของนายกฯ ฮุน เซน