จีนปลดฟ้าผ่า "ฉิน กัง" รมว.ต่างประเทศ ตั้ง "หวัง อี้" ขึ้นแทน

26 ก.ค. 2566 | 01:48 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2566 | 01:58 น.

คณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ปลด นายฉิน กัง จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และแต่งตั้งให้ นายหวัง อี้ ขึ้นแทน

สำนักข่าวซินหัว ปักกิ่ง รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 คณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 14 มีมติปลด นายฉิน กัง จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และแต่งตั้งให้ นายหวัง อี้ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนแทน

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังมีมติ ปลด นายอี้ กัง ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน และแต่งตั้งนายพาน กง เซิ่งเป็นผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีนแทนด้วย

สำหรับนายฉิน กัง เกิดที่เทียนจิน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1966 ปัจจุบันอายุ 57 ปี อดีตที่ปรึกษาของสีจิ้นผิงและเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐ และได้เข้ามาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 แต่ที่ผ่านมามีรายงานว่า เขาไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีข่าวลือที่เกี่ยวกับตัวเขาหลายเรื่อง 

ส่วนนาย หวัง อี้ ถือเป็นนักการทูตคนสำคัญของจีน เคยมีตำแหน่งเป็นมนตรีเเห่งรัฐเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และถือว่าเป็นบุคคลที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนไว้วางใจให้ดูแลด้านการต่างประเทศ 

 

นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ในโอกาสเยือนไทย เมื่อครั้งการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

ผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศ

สำนักข่าววีโอเอ วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของจีนต่อจากนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำด้านการต่างประเทศของจีนครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่มีเกิดความตึงเครียดหลายเรื่อง สืบเนื่องจากนโยบายต่างประเทศของจีนที่ฉิน กัง เป็นผู้ผลักดัน 

ขณะที่ วู เชียง นักวิชาการอิสระ ระบุว่า จีนไม่น่าจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายต่างประเทศ แม้ว่ารมว.การต่างประเทศ โดนปลดฟ้าผ่าและตอนนี้จีนก็โฟกัสเรื่องการประชุมสุดยอดเอเปกที่สหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้

แก้กฎหมายอาญาฟันทุจริต-ให้สินบน

นอกเหนือจากการแต่งตั้งบุคคลสำคัญแล้ว ที่ประชุมครั้งนี้ ยังเห็นชอบการพิจารณาร่างการแก้ไขกฎหมายอาญา ร่างดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนโยบายหลักของคณะกรรมการกลางพรรคในการต่อต้านการทุจริตและการคุ้มครองทางกฎหมายขององค์กรเอกชน

มีสาระสำคัญ คือ การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับการให้สินบนและการทุจริตของบุคคลภายในองค์กรเอกชนเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการตามการตัดสินใจและการจัดตั้งคณะกรรมการกลางพรรค และตอบสนองความต้องการในทางปฏิบัติในการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมด้วย