วันอาเซียน (ASEAN Day) 8 สิงหาคม หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม

06 ส.ค. 2566 | 23:33 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 23:54 น.

วันอาเซียน (ASEAN Day) ตรงกับวันที่ 8 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันฉลองการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีการลงนามในปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) ที่ประเทศไทยเมื่อ 56 ปีที่แล้ว เรื่องนี้มีความเป็นมาและสำคัญอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

 

วันอาเซียน ปีนี้ (2566) ตรงกับวันอังคารที่ 8 สิงหาคม เรามาย้อนประวัติไปในปีพุทธศักราช 2510 “อาเซียน” ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังแสวงหาแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ฯพณฯ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น และเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบิดาผู้ให้กำเนิดอาเซียน ได้เสนอแนวคิดที่จะให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ และกำหนดอนาคตของตนเองได้อย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นยุคแห่งภัยสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในเอเชียระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และการที่จีนเร่งขยายอิทธิพลด้านการเมืองและการทหารของตนเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจนทำให้เกิดการสู้รบในรูปแบบของสงครามกองโจร และการก่อการร้ายในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย

ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลดังกล่าวทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศ ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้มาร่วมหารือ และร่วมกันลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ที่พระราชวังสราญรมย์ เพื่อก่อตั้งอาเซียนขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510

ภาพแห่งประวัติศาสตร์ การลงนามในปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) หรือปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ที่พระราชวังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510

ในวันแห่งประวัติศาสตร์ดังกล่าว เวลา 10.50 น. ภายในห้องโถงใหญ่ของพระราชวังสราญรมย์ ที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ โลกได้เป็นสักขีพยานความเห็นร่วมกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจาก 5 ชาติ ได้แก่

  • ฯพณฯ อาดัม มาลิก (Adam Malik Batubara) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย
  • ฯพณฯ ตุน อับดุล ราซัก (Tun Abdul Razak Hussein)  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติของมาเลเซีย
  • ฯพณฯ นาร์ซิโซ รามอส (Narciso R. Ramos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์,
  • ฯพณฯ เอส ราชารัตนัม (S. Rajaratnam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์
  • และ ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย

ที่ได้ร่วมกันลงนามในเอกสารสำคัญ ที่มีชื่อว่าปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) หรือ ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ถือเป็นการก่อกำเนิดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nation) อย่างเป็นทางการ

รัฐมนตรีต่างประเทศของ 5 ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนในปี 2510

ต่อมาอาเซียนจึงมีประเทศสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่  บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว  เมียนมา และกัมพูชา  ตามลำดับ จึงทำให้ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิก 10  ประเทศ

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วันที่ 8 สิงหาคมของทุกๆ ปี จึงถูกจัดให้เป็นวันก่อตั้งอาเซียน กรมอาเซียนในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ จึงจัดงาน ASEAN Day เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของการก่อตั้งอาเซียน และเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทย

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 นี้ ถือเป็นวันครบรอบการก่อตั้งครบ 56 ปีของอาเซียน และต่อไปนี้เป็นเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับอาเซียน

จุดประสงค์หลักของอาเซียน

ในปฏิญญากรุงเทพฯ นั้น ได้ระบุวัตถุประสงค์สำคัญ 7 ประการของการจัดตั้งอาเซียน ได้แก่

  1. ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
  2. ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
  3. เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
  4. ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
  5. ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย และส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  6. เพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจนการปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
  7.  เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การ ความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศ

ภาษาอาเซียน

ภาษาทางการที่ใช้ในการติดต่อประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก  คือ  ภาษาอังกฤษ

คำขวัญของอาเซียน

"หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (One Vision, One Identity, One Community)

สัญลักษณ์ของอาเซียน

สัญลักษณ์อาเซียน

คือ ดวงตราอาเซียนเป็น รูปมัดรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นวงกลม สีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาว และสีน้ำเงิน

รวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น หมายถึง ความใฝ่ฝันของบรรดาสมาชิกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ  ให้มีอาเซียนที่ผูกพันกันอย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว

วงกลม  เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเอกภาพของอาเซียน

ตัวอักษรคำว่า asean สีน้ำเงิน อยู่ใต้ภาพรวงข้าว แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภาพ เอกภาพ  และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน

ส่วนสีที่ใช้ในสัญลักษณ์อาเซียน นั้น

สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

สีแดง     หมายถึง ความกล้าหาญและการมีพลวัติ

สีขาว     หมายถึง ความบริสุทธิ์

สีน้ำเงิน  หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

ธงอาเซียน

ธงอาเซียนเป็นธงพื้นสีน้ำเงิน มีดวงตราอาเซียนอยู่ตรงกลาง แสดงถึงเสถียรภาพ  สันติภาพ  ความสามัคคี  และพลวัตของอาเซียน สีของธงประกอบด้วย  สีน้ำเงิน  สีแดง  สีขาว  และสีเหลือง  ซึ่งเป็นสีหลักในธงชาติของบรรดาประเทศสมาชิกของอาเซียนทั้งหมด

เพลงประจำอาเซียน (ASEAN  Anthem)

คือ เพลง  ASEAN  WAY ถือกำเนิดจากกฎบัตรของอาเซียนข้อบทที่ 40 ที่ระบุให้มีเพลงประจำอาเซียน (ASEAN Anthem) ซึ่งในการประกวดแข่งขันเพลงประจำอาเซียนเมื่อปี 2551 มีบทเพลงส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 99 บทเพลง และเพลง The ASEAN Way ของไทย ซึ่งแต่งโดย นายกิตติคุณ สดประเสริฐ (ทำนองและเรียบเรียง) นายสำเภา ไตรอุดม (ทำนอง) และนางพะยอม วลัยพัชรา (เนื้อร้อง) ได้รับการเลือกโดยมติเอกฉันท์ จากกรรมการประเทศสมาชิกอาเซียน และกรรมการจากจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ให้เป็นเพลงประจำอาเซียน

เพลงนี้มีการบรรเลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์