ฟิทช์จ่อทบทวนอันดับเครดิตจีน หวั่นวิกฤตหนี้สินกระทบสถานะการคลังรัฐบาล

17 ส.ค. 2566 | 06:20 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 06:36 น.

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่า อาจต้องทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของจีนซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A+ สร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นให้กับตลาดการเงิน หลังสัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่งลดเครดิตสหรัฐ


นายเจมส์ แมคคอร์แมค กรรมการผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศของ บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กว่า หาก รัฐบาลจีน ทำการขยายงบดุลบัญชีเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทางฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็อาจจะทบทวนเรื่อง อันดับความน่าเชื่อถือของจีน อีกครั้ง เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนนั้นได้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งนั่นอาจจะนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนลงสู่ระดับ A

"ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้พิจารณาถึงหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ แต่เราเล็งเห็นว่าหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชนและภาคธนาคารของจีนอาจจะกลายเป็นหนี้สินที่แท้จริงของรัฐบาลจีนในที่สุด" นายแมคคอร์แมคกล่าว และว่า

"อันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพของจีนที่ระดับ A+ นั้น ถือเป็นหนึ่งในการคงอันดับที่ยาวนานที่สุดของฟิทช์ โดยฟิทช์ได้ให้อันดับ A+ กับจีนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ส่วนปัจจัยที่จะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของจีนเปลี่ยนแปลงไป คือการที่เราพบหลักฐานเพิ่มขึ้นว่า ปัญหาหนี้สินของจีนกำลังลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ"

การแสดงความเห็นของนายแมคคอร์แมคมีขึ้น หลังจากที่ ฟิทช์เพิ่งจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกาลงสู่ระดับ AA+ จากระดับ AAA เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลกมาแล้ว

ทั้งนี้ นักลงทุนมักจะพึ่งพาการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาในการซื้อหุ้นกู้ และการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจว่าผู้ที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนในตลาดทุนนั้นจะให้ผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยได้มากเท่าใด

สำหรับ เศรษฐกิจจีน นั้น นักลงทุนทั่วโลกได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง หลังจากที่จีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ “น่าผิดหวัง” และ “ต่ำกว่าคาด” หลายรายการเมื่อวันอังคาร (15 ส.ค.) ตั้งแต่ยอดค้าปลีกไปจนถึงราคาบ้าน

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนอาจโตไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 5% ในปี2566 นี้ เว้นแต่รัฐบาลจีนจะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

นางวัง เทา หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของยูบีเอส อินเวสต์เมนต์ แบงก์ (UBS Investment Bank) เปิดเผยว่า ความอ่อนแอในภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์จะเป็นอีกปัจจัยกดดันจีน จากที่แต่เดิมภาคอุตสาหกรรมก็เผชิญกับแรงกดดันในการลดสินค้าคงคลังอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นปัจจัยกดดันความต้องการบริโภคด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนโตไม่ได้ตามเป้า

ด้านนายถิ่ง ลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของโนมูระ เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนควรรับหน้าที่เป็นผู้ให้กู้ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายเพื่อสนับสนุนนักพัฒนารายใหญ่ ๆ รวมถึงสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา และเป็นผู้ใช้จ่ายที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในภาพรวม

ทั้งนี้ จีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโตไม่ถึงที่โนมูระคาดการณ์ไว้ที่ 4.9% ในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ และจะส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจจีนโตไม่ถึง 5% ตามเป้า

ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยคิดเป็นเกือบ 18% ของ GDP โลกในปี 2565 สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งในทางตรงและทางอ้อม