จับชีพจรเศรษฐกิจจีน ปัจจัยลบรุมเร้า หวั่นดึงการเติบโตชะลอตัวยาว

16 ส.ค. 2566 | 00:45 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 07:04 น.

รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนเมื่อวันอังคาร (15 ส.ค.) ย้ำให้เห็นแรงกดดันหลายด้านที่มีต่อเศรษฐกิจจีน ที่มีการขยายตัว "ต่ำกว่าคาด" ส่งผลให้รัฐบาลปักกิ่งจำเป็นต้องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทันที เพื่อกระตุ้นการผลิตและการจ้างงาน

 

ธนาคารกลางของจีน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้าเมื่อวันอังคาร (15 ส.ค.)  หลังจากที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีน ที่เผยแพร่ในวันเดียวกันนั้น โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics: NBS) ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตในระดับที่ “ต่ำกว่าคาด” ทั้งในด้านยอดขายปลีก การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุน ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รายงานของ NBS ชี้ว่า

  • การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ค.ของจีน ปรับตัวขึ้นเพียง 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมิ.ย.ที่มีการขยายตัว 4.4%  และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดไว้ ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจปรับตัวขึ้น 4.4%
  • ขณะที่ ยอดค้าปลีก เดือนก.ค.ขยับขึ้นเพียง 2.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมิ.ย.ที่เพิ่มขึ้น 3.1% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 4.5% แม้ว่าเดือนก.ค.จะเป็นฤดูการท่องเที่ยวในช่วงหน้าร้อนของจีนก็ตาม
  • ส่วน อัตราว่างงาน เดือนก.ค.ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 5.3% จากระดับ 5.2% ในเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้ระงับการเปิดเผยตัวเลขการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาว (อายุระหว่าง 16-24 ปี )ในเดือนก.ค.ด้วย หลังจากที่ตัวเลขดังกล่าวแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ 21.3%
  • สุดท้ายคือ ตัวเลขการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ในเดือนก.ค.ลดลง 8.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเป็นการปรับตัวลงรุนแรงกว่าในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

น่าหวั่นที่ว่า ถึงแบงก์ชาติจีนจะลดดอกเบี้ย แต่ก็อาจไม่ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก

ข้อมูลเหล่านี้ สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน และบดบังปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ลง 0.15% สู่ระดับ 2.50% ในวันเดียวกัน (15 ส.ค.) ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางจะคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ที่ระดับ 2.65%

จูเลียน เอวานส์-พริตชาดส์ นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics ให้ความเห็นเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจจีนที่เปิดเผยออกมานี้ว่า กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม ประกอบกับปัญหาการเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายราย ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกเสียจากว่า รัฐบาลจะมีนโยบายมารองรับเร็ว ๆ นี้

ด้านนักวิเคราะห์ของ Nomura เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงขาลง และจุดต่ำสุดยังรออยู่ข้างหน้า นักวิเคราะห์ของโนมูระไม่เชื่อว่ามาตรการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีนครั้งล่าสุดนี้ จะช่วยอะไรได้มากนัก

การถดถอยเชิงโครงสร้าง

สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนภายหลังการระบาดของโควิด-19 นั้น มีหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

  • ปัญหาในภาคอสังริมทรัพย์
  • หนี้ระดับสูงของรัฐบาลส่วนท้องถิ่น
  • อัตราการว่างงานสูงในหมู่คนหนุ่มสาว
  • และความต้องการสินค้าที่ลดลงในตลาดโลก

โรเบิร์ต คาร์เนลล์ หัวหน้านักวิจัยด้านเอเชีย-แปซิฟิก ของบริษัทการเงิน ING กล่าวว่า ปัจจุบัน จีนกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศ และลดความสำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อหนี้ลงมา

ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนกำลังมีปัญหา

"เราจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการปรับเปลี่ยนนี้ มันจะเป็นการปลดเปลื้องตัวเองออกจากรูปแบบเดิมๆ ของการขยายตัวที่เน้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการก่อหนี้ในระดับสูง ดังนั้น เราจำเป็นต้องลดความความหวังต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐจีนลง" คาร์เนลล์กล่าว

ทั้งนี้ จีนตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ (2566) ไว้ที่ระดับ 5% แต่รายงานการวิเคราะห์ของ Nomura เตือนว่าจีนอาจทำไม่ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว เหมือนกับที่เคยพลาดเป้ามาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

จีนคือ “ระเบิดเวลา” จากปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า

ผู้ที่กล่าวว่า จีนคือระเบิดเวลา คือประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ที่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนระหว่างร่วมงานเลี้ยงระดมทุนทางการเมืองในรัฐยูทาห์เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเขากล่าวว่า จีนกำลังประสบปัญหาเพราะการเติบโตที่อ่อนแอ “พวกเขา(จีน)มีปัญหาบางอย่าง นั่นไม่ใช่เรื่องดีเพราะเมื่อเพื่อนแย่ ๆ มีปัญหา พวกเขาก็จะทำสิ่งเลวร้ายได้”

ถ้อยแถลงของผู้นำสหรัฐรอบล่าสุดนี้ มีขึ้นหลังจากที่ปธน.ไบเดนเพิ่งลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ห้ามการลงทุนใหม่ของบริษัทอเมริกันในจีนสำหรับเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหว เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งจีนแสดงความกังวลเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวนี้ และประกาศจะใช้มาตรการตอบโต้

ทั้งนี้ จีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (deflation) และอาจกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงกว่าที่เคยจากปัญหาเงินฝืดและเรื่องค่าแรงที่ซบเซา ซึ่งสวนทางกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐและอีกหลายประเทศทั่วโลก

นักวิเคราะห์กำลังวิตกว่า ปัจจัยภายในประเทศของจีนเองที่กำลังเผชิญอยู่ เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยความสะดุดขัดทั้งด้านการค้าและการลงทุนกับสหรัฐท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย ยิ่งอาจทำให้ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนต้องประสบความยุ่งยากและไม่เป็นไปตามเป้า และเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจจีนมีปัญหา นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจโลกต้องพร้อมรับมือผลกระทบที่จะมีตามมาอย่างแน่นอน