สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะทำงานของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำ สหรัฐอเมริกา ประกาศทุ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนการผลิตและ แจกจ่ายชุดตรวจโควิด-19 ฟรี ให้กับประชาชนอีกครั้ง เป้าหมายเพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนชุดตรวจในช่วงที่คาดว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งในช่วง ฤดูหนาวนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐประกาศทุ่มงบ 600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.15 หมื่นล้านบาท สำหรับการผลิตชุดตรวจโควิดแบบรู้ผลรวดเร็ว (ATK)ได้ที่บ้าน จำนวน 200 ล้านชุด ซึ่งชุดตรวจโควิดนี้จะจัดส่งถึงบ้านเรือนประชาชนทางไปรษณีย์เหมือนครั้งก่อน ๆ
โดยการขอรับชุดตรวจโควิดนี้ ประชาชนสามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ COVIDTests.gov ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25 กันยายนนี้เป็นต้นไป โครงการนี้เปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันสั่งชุดตรวจโควิด(ขอรับฟรี) ได้จำนวน 4 ชุดต่อครัวเรือน
ส่วนการผลิตชุดตรวจโควิด-19 ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ช่วงปลายปีนี้
รายงานระบุว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดนได้จัดส่งชุดตรวจโควิดฟรีให้แก่ประชาชนไปแล้ว 4 ครั้งก่อนหน้านี้ ช่วยแจกจ่ายชุดตรวจโควิดไปถึงมือประชาชนมากกว่า 755 ล้านชุดทั่วประเทศ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ชี้ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ระบุว่า อัตราผู้ป่วยโควิดในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ Eris BA.2.86 (เอริส บีเอ.2.86) เริ่มระบาด ยังคงไม่มีอาการหนักมากนักเมื่อเทียบกับช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโควิดใหม่ ๆ
ทั้งนี้ เอริส (Eris) กลายพันธ์มาจากโคโรนาไวรัสโอมิครอน (Omicron) ที่มีอัตราการระบาดรวดเร็ว แต่ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เอริส บีเอ.2.86 จะระบาดได้เร็วกว่าหรือทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม จึงยังไม่มีการปรับเปลี่ยนข้อแนะนำเรื่องการป้องกันการติดเชื้อในหมู่ประชาชนอเมริกันแต่อย่างใด
ดร. เอริก โทโพล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย สคริพส์ (Scripps Research Translational Institute) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า หากไวรัสสายพันธุ์ BA.2.86 แพร่ระบาดออกไป อาจเพิ่มโอกาสป่วยหนักให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้จะสร้างความเสี่ยงด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนทั่วไปมากน้อยแค่ไหน
ในส่วนของวัคซีนป้องกันโควิด ขณะนี้บริษัทเวชภัณฑ์ต่าง ๆ กำลังเน้นผลิตวัคซีนที่สามารถใช้กับสายพันธุ์ใหม่ได้ เช่น ผลการทดสอบล่าสุดของบริษัท โมเดอร์นา (Moderna) แสดงให้เห็นว่าวัคซีนรุ่นใหม่มีประสิทธิผลน่าพอใจเมื่อใช้กับสายพันธุ์เอริสที่กำลังระบาดในสหรัฐอยู่ในปัจจุบัน
ล่าสุด กลางเดือนกันยายนนี้ CDC มีมติ 13 ต่อ 1 ให้สามารถใช้วัคซีนบูสเตอร์ตัวใหม่ได้กับประชาชนในวงกว้าง (ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป) แทนที่จะมุ่งเป้ากลุ่มเสี่ยงก่อน ตามหลังการอนุมัติวัคซีนดังกล่าวจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ หรือ FDA เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา
คาดว่า กระบวนการแจกจ่ายวัคซีนนี้ น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในเดือนกันยายนนี้ โดยเอพีรายงานว่า บริษัทไฟเซอร์พร้อมจัดส่งวัคซีนบูสเตอร์ตัวใหม่ไปตามร้านขายยาทั่วประเทศได้เร็วที่สุดกลางเดือนนี้
รายงานข่าวระบุว่า วัคซีนตัวล่าสุด ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนตัวใหม่ที่ชื่อ XBB.1.5 ซึ่งแม้จะไม่ใช่สายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ แต่ก็ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยมากที่สุดในเวลานี้
การอนุมัติวัคซีนบูสเตอร์ตัวใหม่นี้มีขึ้นในช่วงที่อัตราการเข้ารับการรักษาตัวเพราะการติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ และยังมีความกังวลถึงการระบาดระลอกใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวปีนี้
ข้อมูลอ้างอิง