ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่สะท้อนว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงในเดือนตุลาคม ประกอบกับข่าวเชิงลบเกี่ยวกับธนาคารและบริษัทพลังงานรายใหญ่อย่างเจพีมอร์แกนและเชฟรอน ที่ทุบหุ้นของทั้งสองบริษัทร่วงลง 2% และ 5% ตามลำดับ นับเป็นข่าวเชิงลบที่ส่งผลกดดันให้ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐอเมริกาดิ่งลงกว่า 300 จุดในช่วงสุดสัปดาห์นี้ (27 ต.ค.ตามเวลาท้องถิ่น)
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 63.8 ในเดือนตุลาคม 2566 แม้ยังสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0 แต่ก็เป็นการลดลงจากระดับ 68.1 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภค “ลดความเชื่อมั่น” ต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นถึง 3.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 3.4% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือนส.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 3.8% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
จากสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนเทน้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์หน้า และเพิ่มน้ำหนักในการคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายในปี 2566 นี้
โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. 2566 และให้น้ำหนัก 79.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ต่อไปในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2566 หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 57.9% ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
ราคาหุ้นเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ ร่วงลงในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทวานนี้ (27 ต.ค.เวลาท้องถิ่นสหรัฐ) หลังมีรายงานว่า นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของทางธนาคาร เตรียมขายหุ้นเจพีมอร์แกนจำนวน 1 ล้านหุ้น ทำให้ ณ เวลา 21.28 น.ตามเวลาไทย ราคาหุ้นเจพีมอร์แกนดิ่งลง 2.69% สู่ระดับ 136.97 ดอลลาร์สหรัฐ
ทางธนาคารเปิดเผยว่า นายไดมอนเตรียมขายหุ้นเจพีมอร์แกนจำนวน 1 ล้านหุ้นในปีหน้า(2567) จากจำนวน 8.6 ล้านหุ้นที่เขาถือครองอยู่ โดยเป็นการขายหุ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 18 ปีที่นายไดมอนดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน
ทั้งนี้ หากคำนวณจากราคาปิดตลาดวานนี้ (27 ต.ค.) การขายหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าเกือบ 141 ล้านดอลลาร์ ขณะหุ้นที่เหลือมีมูลค่าราว 1,070 ล้านดอลลาร์
เจพีมอร์แกนระบุว่า การขายหุ้นของนายไดมอนมีจุดประสงค์เพื่อกระจายการลงทุนทางการเงิน และสำหรับการวางแผนทางด้านภาษี โดยเขายังคงมีความเชื่อมั่นว่า ธนาคารยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
ส่วน ราคาหุ้นเชฟรอน คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา ดิ่งลงกว่า 5% สู่ระดับ 151.60 ดอลลาร์หลังบริษัทเปิดเผยผลกำไรต่ำกว่าคาดในไตรมาส 3/2566 เป็นผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง
เชฟรอนเปิดเผยว่า บริษัทมีกำไร 3.05 ดอลลาร์/หุ้น ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.75 ดอลลาร์/หุ้น อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมีรายได้ 5.19 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 5.14 หมื่นล้านดอลลาร์/หุ้น