ส่งออก 9 เดือนยังติดลบ 3.8% ตลาดหลัก “จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อียู อาเซียน”ยังน่าห่วง

24 ต.ค. 2566 | 05:04 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2566 | 05:42 น.

ส่งออกไทยยังน่าห่วง แม้พลิกบวก 2 เดือนติดต่อกัน แต่ภาพรวม 9 เดือนแรกยังอยู่ในแดนลบ ตลาดหลัก “จีน-สหรัฐ-ญี่ปุ่น-อียู-อาเซียน”ยังหดตัว ผลพวงเศรษฐกกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ขยายวง ดอกเบี้ยโลกขาขึ้นตัวฉุด

สำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2566 กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 2 ของปีนี้ ที่ร้อยละ 2.1  (จากเดือน ส.ค.ขยายตัวร้อยละ 2.6) แต่ในภาพรวมการส่งออกของไทยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ยังติดลบที่ร้อยละ 3.8

โดยวันที่ 24 ต.ค. 2566 นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้บริการของกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.ย. 2566 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 ระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2566 มีมูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (888,666 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.1 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 1.0 การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

ส่งออก 9 เดือนยังติดลบ 3.8% ตลาดหลัก “จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อียู อาเซียน”ยังน่าห่วง

ทั้งนี้ได้รับแรงหนุนจากการการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นสินค้าที่เติบตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาเซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของโลกเดือนในเดือนกันยายนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว และการฟื้นตัวของตลาดหลักยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน ชะลออุปสงค์ทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2566 ยังหดตัวร้อยละ 3.8 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.2

ส่งออก 9 เดือนยังติดลบ 3.8% ตลาดหลัก “จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อียู อาเซียน”ยังน่าห่วง

  • สำหรับในรายละเอียดของการค้าไทยในเดือน ก.ย. 2566 มีดังนี้ 

การส่งออก มีมูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,383.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 8.3 ดุลการค้า เกินดุล 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 213,069.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 218,902.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.0 ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,832.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือน ก.ย.2566 การส่งออก มีมูลค่า 888,666 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 825,310 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 10.2 ดุลการค้าเกินดุล 63,355 ล้านบาท

ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 7,268,400 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 7,558,144 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.9 ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 289,744 ล้านบาท

ส่งออก 9 เดือนยังติดลบ 3.8% ตลาดหลัก “จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อียู อาเซียน”ยังน่าห่วง

  • การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.0 (YoY) พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.4 พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน

สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 166.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และฮ่องกง) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 51.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ มาเลเซีย และเบนิน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 3.7 กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 16.3 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน และสิงคโปร์)

ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 12.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 27.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน เกาหลี และออสเตรเลีย)

นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 3.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมา และอียิปต์) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 7.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐฯ กัมพูชา และเมียนมา)ไข่ไก่สด ขยายตัวร้อยละ 52.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ไต้หวัน มัลดีฟส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

ส่งออก 9 เดือนยังติดลบ 3.8% ตลาดหลัก “จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อียู อาเซียน”ยังน่าห่วง

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 12.0 หดตัวต่อเนื่อง
9 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ จีน และอาร์เจนตินา) ยางพารา หดตัวร้อยละ 30.3 หดตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดตุรกี ฝรั่งเศส กัมพูชา โรมาเนีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 11.2 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และไอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ แคนาดา ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และฝรั่งเศส) อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 7.9 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 3.9 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียแคนาดา และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดจีน เนเธอร์แลนด์ ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเมียนมา) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.0

  • การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว (หลังจากขยายตัวเดือนก่อนหน้า) ร้อยละ 0.3 (YoY) แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซียและซาอุดีอาระเบีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 27.3 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง อิตาลี สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม และญี่ปุ่น)

เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอแลนด์และเม็กซิโก) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 46.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 23 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน อิตาลี และญี่ปุ่น) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 28.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเม็กซิโก)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 24.3 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ เนเธอแลนด์ และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดจีน ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน และเวียดนาม) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 5.5 หดตัวต่อเนื่อง10 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย)

เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 27.7 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี สหราชอาณาจักร และ เกาหลีใต้) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 34.6 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และเบลเยียม แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อิตาลี อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ และเยอรมนี) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม หดตัวร้อยละ 15.8 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เมียนมา และไต้หวัน) ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 3.7

ส่งออก 9 เดือนยังติดลบ 3.8% ตลาดหลัก “จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อียู อาเซียน”ยังน่าห่วง

  • ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการกลับมาขยายตัวในรอบหลายเดือนของตลาดอาเซียน (5) และเอเชียใต้ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังหลายตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน จากปัจจัยกดดันของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

(1)ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 4.2 โดยกลับมาหดตัวในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น กลับมาหดตัวร้อยละ 10.0 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ และหดตัวต่อเนื่องในตลาด CLMV และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 18.1 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ในขณะที่ขยายตัวในตลาดจีนและอาเซียน (5) ร้อยละ 14.4 และร้อยละ 4.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 10.5 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 7.8 แอฟริกา ร้อยละ 23.0 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.6 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 33.9 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 11.8 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 15.0 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 423.6 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 749.8

ตลาดสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.0 (กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.2

ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 14.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.3

ตลาดญี่ปุ่น กลับมาหดตัวร้อยละ 5.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 0.1

ตลาดสหภาพยุโรป หรือ อียู (27) หดตัวร้อยละ 9.3 (หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.7

ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 4.1 (กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้
9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 6.9

ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 18.1 (หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และทองแดงและของทำด้วยทองแดง เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 16.2 

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 7.8 (กลับมาขยายตัวในรอบ 14 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น
อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 10.6

ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 11.8 (กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้
9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 0.8

ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 5.9 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และข้าว เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้
9 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.9

ตลาดแอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 23.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม และ
เม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.1

ตลาดลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 2.1

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 33.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น
สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป น้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 39.0

ตลาดสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 15.0 (กลับมาหดตัวในรอบ 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารสัตว์เลี้ยง และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 7.2

นายกีรติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินการส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่ต่างออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอุปสรรค ด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ขณะที่กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจากภาคบริการและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปีจะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่ไทยมีศักยภาพสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ตามเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสะอาด

โดยกระทรวงพาณิชย์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและเดินหน้าเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ ๆ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งอาจขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าของโลก