ประณามอิสราเอลยิงขีปนาวุธถล่มค่ายผู้อพยพใหญ่สุดในกาซา ตาย-เจ็บเกลื่อน

01 พ.ย. 2566 | 04:49 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2566 | 05:03 น.

อนามัยโลกเตือนความเสี่ยงที่จะเกิด "หายนะด้านสาธารณสุข" ในฉนวนกาซา ขณะที่กองทัพอิสราเอลระดมโจมตีกลุ่มฮามาสอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการยิงจรวดถล่มค่ายอพยพใหญ่สุดในกาซา รายงานเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย รวมทั้งเด็ก ทำให้นานาประเทศออกมาประณามอิสราเอลยับ

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เตือนวันนี้ (1 พ.ย.) ว่า หายนะด้านสาธารณสุข ใน ฉนวนกาซา ใกล้จะเกิดขึ้นแล้วจากการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนจำนวนมาก รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดยัดเยียด และความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านไฟฟ้า ประปา และสุขอนามัย ล่าสุดวันที่ 31 ต.ค. อิสราเอล ได้ถล่มขีปนาวุธโจมตี ค่ายผู้อพยพจาบาลยา (Jabalya refugee camp) ซึ่งเป็นค่ายผู้อพยพขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชาชนหนาแน่นที่สุด ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน ขณะที่เกิดหลุมใหญ่บนพื้นดิน 7-8 หลุมจากแรงระเบิด   

นายคริสเตียน ลินด์ไมเออร์ โฆษก WHO กล่าวว่า ในเวลานี้ ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของประชาชนในฉนวนกาซา ไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังมีผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆด้วย

หายนะด้านสาธารณสุข "กาซา"นรกบนดิน

ด้านองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ออกโรงเตือนเช่นกัน ถึงความเสี่ยงที่จะมีเด็กทารกในฉนวนกาซาต้องเสียชีวิตจากภาวะขาดน้ำ และมีเด็กๆป่วยมากขึ้นจากการบริโภคน้ำเค็ม เนื่องจากปริมาณน้ำที่แจกจ่ายในฉนวนกาซา มีเพียงร้อยละ 5 จากระดับปกติ และโรงงานแยกเกลือออกจากน้ำทะเลเพื่อการอุปโภคบริโภคก็ไม่สามารถดำเนินการได้ หลังกองทัพอิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างเบ็ดเสร็จมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว

แรงระเบิดทำให้อาคารทลายกลายเป็นซากและเกิดหลุมลึกบนพื้นดิน บริเวณค่ายผู้อพยพจาบาลยา ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา

ประณามอิสราเอลยิงขีปนาวุธถล่มค่ายผู้อพยพใหญ่สุดในกาซา ตาย-เจ็บเกลื่อน

การออกมาเรียกร้องขององค์กรระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขและสวัสดิการเด็กในครั้งนี้ เป็นความเคลื่อนไหวที่มีขึ้นขณะที่กองทัพอิสราเอลยังคงเดินหน้ายกระดับความรุนแรงของการโจมตีทางอากาศ และขณะเดียวกันก็ได้การขยายขอบเขตของปฏิบัติการภาคพื้นดินเข้าไปในพื้นที่ทางเหนือของฉนวนกาซามากยิ่งขึ้น เพื่อทำลายขีดความสามารถทางการทหารกลุ่มฮามาสและช่วยเหลือตัวประกันเกือบ 240 คน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากนานาประเทศทั่วโลก ให้อิสราเอลและกลุ่มฮามาสหยุดยิงโดยทันทีเพื่อมนุษยธรรม และเปิดทางให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในฉนวนกาซา ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้นำอิสราเอลได้ประกาศปฏิเสธดับฝันเรื่องการเจรจาหยุดยิงโดยกล่าวว่า ขณะนี้คือช่วงเวลาของสงคราม อีกทั้งการหยุดยิงจะเปิดโอกาสให้กลุ่มฮามาสตั้งหลักเพื่อการตอบโต้อิสราเอลในภายหลัง

แถลงการณ์ของกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) เปิดเผยวานนี้ (31 ต.ค.) ระบุว่า การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลพุ่งเป้าสังหารนายอิบราฮิม บิอารี หนึ่งในแกนนำระดับผู้บังคับบัญชาของกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นผู้สั่งการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดย IDF ระบุว่า นายบิอารีเสียชีวิตแล้วในการโจมตี แต่ทางกลุ่มฮามาสยังคงปฏิเสธข่าวดังกล่าว

นอกจากนี้ IDF ยังระบุว่า ทางกลุ่มฮามาสได้ใช้อาคารบ้านเรือนของพลเรือนเป็นเกราะกำบัง อย่างไรก็ตาม การโจมตีล่าสุดของอิสราเอลทำให้แกนนำของกลุ่มก่อการร้ายฮามาสเสียชีวิตหลายราย

น่าเศร้าที่ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก

ด้านกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์รายงานว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล เพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซานับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาจนถึงวานนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8,500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่า 3,500 ราย และยังมีผู้บาดเจ็บอีกราวๆ 21,000 ราย

ไม่มีที่ปลอดภัยอีกแล้วในฉนวนกาซา

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์โจมตีค่ายผู้อพยพรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว CNN ว่า หลังการโจมตีสงบลงภาพที่เห็นหลังจากนั้นนับว่าน่าสะพรึงกลัวมาก เพราะฝุ่นละอองสีเทาทึบครอบคลุมบรรยากาศ อาคารทั้งหลายกลายเป็นซากปรักหักพังมีร่างคนเจ็บคนตายห้อยอยู่ หลายคนร่างไหม้เกรียมจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร ทุกคนดูตื่นตระหนกหวาดกลัว ผู้หญิงกรีดร้องและดูสับสน หลายคนวิ่งหาลูกหลานโกลาหลไปหมด เนื่องจากจุดที่จรวดตกลงมานั้นใกล้ที่เด็กเล่น และภาพที่น่าสลดใจคือเด็กและเยาวชนที่บาดเจ็บหลายคน ยังคงพยายามช่วยเหลือเด็กๆด้วยกันออกมาสู่ที่ปลอดภัย

หน่วยงานระหว่างประเทศด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ได้ออกมาเรียกร้องว่า ขณะนี้ไม่มีที่ที่เรียกได้ว่า “ปลอดภัย” ในฉนวนกาซาอีกแล้ว องค์กรสิทธิมนุษยชนในอิสราเอลได้ออกมาประณามการโจมตีฉนวนกาซาว่า การทำลายล้างและปลิดชีวิตผู้คนในกาซาโดยฝ่ายอิสราเอลนั้นถือว่าเป็นการทำลายล้างขนานใหญ่ มีคนตายมากกว่า 8,000 คน มากกว่าครึ่งของคนตายเป็นผู้หญิงและเด็ก แต่ละครั้งที่ขีปนาวุธถล่มอาคารที่เป็นบ้านพักอาศัยของพลเรือน หมายถึงการถล่มหายไปทั้งครอบครัว “เราไม่สามารถทนต่ออาชญากรรมที่ทำต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้อีกต่อไป เราจำเป็นต้องย้ำอีกครั้งและจะซ้ำๆเช่นนี้ไปเรื่อยว่า ในภาวะสงครามใช่ว่าคุณจะทำอะไรได้ทุกอย่าง ในสงครามกับฮามาสครั้งนี้ก็เช่นกัน” แถลงการณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชน  B’tselem ในอิสราเอลระบุ

นานาประเทศถล่มประณามอิสราเอล

ด้านกระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์แถลงว่า การโจมตีของอิสราเอลคือการสังหารหมู่อย่างเหี้ยมโหด ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ “นี่คือการสังหารหมู่ขนานใหญ่ต่อหน้าประชาคมโลก และภายใต้ข้อกล่าวอ้างว่าทำเพื่อป้องกันตนเอง”

นอกจากนี้ ผู้แทนของนานาประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน จอร์แดน และอียิปต์ ได้ออกมาประณามการโจมตีของอิสราเอลด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ออกแถลงการณ์ว่า อิสราเอลกำลังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการเล็งเป้าโจมตีอย่างเลือดเย็นไปยังที่พักอาศัยของพลเรือน