ครม.อนุมัติร่างเอกสาร 2 ฉบับ นายกฯเศรษฐา เยือนญี่ปุ่น 14-18 ธ.ค.2566

12 ธ.ค. 2566 | 22:35 น.

ครม.ไฟเขียวร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ รวมสองฉบับ เตรียมพร้อมคณะนายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ วันที่ 14-18 ธ.ค.2566 นี้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น สองฉบับ ในโอกาสจะเดินทางร่วมคณะนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566ได้แก่ 

  • ร่างแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น 
  • ร่างแผนดำเนินงานตามแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น

สำหรับสาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ทั้งสองฉบับ มีรายละเอียดดังนี้

1. ร่างแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในระดับผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่น

มีสาระสำคัญเป็นการกระชับความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน โดยแบ่งเป็นสามเสาหลัก ได้แก่ 

  • หุ้นส่วนใจถึงใจจากรุ่นสู่รุ่น สนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนและประชาชนด้านวัฒนธรรม ศิลปะ กีฬา และการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
  • หุ้นส่วนเพื่อการสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคตสนับสนุนเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและยั่งยืน ความเชื่อมโยง ความร่วมมือด้านนวัตกรรม ห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร 
  • หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางทะเล การลดอาวุธและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ สนับสนุนหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ

 

ครม.อนุมัติร่างเอกสาร 2 ฉบับ นายกฯเศรษฐา เยือนญี่ปุ่น 14-18 ธ.ค.2566

 

2. ร่างแผนดำเนินงานตามแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน - ญี่ปุ่น

มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดและแนวทางความร่วมมือตามแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน พร้อมกำหนดแนวทางการประเมินผลการดำเนินการตามแผนดำเนินงานฯ ผ่านกลไกที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ Joint Cooperation Committee และ ASEAN-Japan Forum โดยจะร่วมกันจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเชียน - ญี่ปุ่นในทุก ๆ ปีต่อไป

สำหรับประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ ทั้งสองฉบับครอบคลุมความร่วมมือรอบด้านและเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์ทั้งระหว่างอาเชียนกับญี่ปุ่นและระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

โดยเฉพาะด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนและประชาชน การสนับสนุนเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและยั่งยืน ความร่วมมือด้านความมั่นคง การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมความเชื่อมโยง ห่วงโซ่อุปทาน การค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร