วันนี้ (17 ธันวาคม 2566) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น รวมทั้งผลการหารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่นครบรอบ 50 ปี ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีมีการลงทุนมากที่สุดในอาเซียน การประชุมครั้งนี้ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกันในหลายๆ เรื่อง ทั้งความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น การลงทุน การท่องเที่ยว พลังงานสะอาด Digital Economy Connectivity
โดยเฉพาะหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ (heart to heart partnership) ซึ่งเกิดจากความผูกพันทางจิตใจ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่แน่นแฟ้น ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกนักธุรกิจ จนมีความผูกพันกัน
“นายกฯ ประทับใจมากที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพูดถึงนายเจ ชนาธิป นักฟุตบอลชาวไทย ซึ่งได้ระบุในคำกล่าวช่วงการปิดการประชุม แสดงถึงความผูกพันระหว่างกันจริง ๆ โดยในโอกาสเดินทางครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งได้พูดคุยเกี่ยวกับด้านการลงทุน”
ทั้งนี้นายกฯ ได้กล่าวถึงการพบปะกับนักธุรกิจรายใหญ่ด้านยานยนต์ 7 บริษัทของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นขอบคุณ และมีความสบายใจถึงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ จากยานยนต์สันดาปเป็น EV เพราะนายกฯได้ให้ความมั่นใจว่าจะช่วยดูแลนักธุรกิจญี่ปุ่น
พร้อมกันนี้ยังได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาความร่วมมือ ด้าน Soft power การลงทุนระหว่างกัน เรื่องการท่องเที่ยว การโรงแรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ขอให้ชาวญี่ปุ่นดูแลธุรกิจของคนไทยในประเทศญี่ปุ่นด้วย
ขณะที่ความร่วมมือ OECD ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกมหาอำนาจทั้ง 30 ประเทศ ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก และในปีหน้า ประเทศญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมได้เชิญประเทศไทยร่วมเป็นประเทศสังเกตการณ์ด้วย
โดยโอกาสนี้ นายกฯ ยังได้หารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยนายกฯ ย้ำความสำคัญการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับญี่ปุ่น ซึ่งไทยจะออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น พร้อมกล่าวฝากรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนธุรกิจของเอกชนไทย และหวังที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้าน Soft power ในโครงการ OTOP ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก OVOP ของญี่ปุ่น
สำหรับความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยหวังว่าจะมีนักลงทุนและแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัลจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะในสาขา Data Center ขนาดใหญ่และบริการคลาวด์คุณภาพสูง
ทั้งนี้ นายกฯ สนับสนุนในหลักการข้อเสนอความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industrial Dialogue) และยินดีร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามกรอบพันธมิตรเอเซค (AZEC) กับญี่ปุ่น โอกาสนี้ นายกฯ ยังได้แจ้งว่า ไทยสนใจที่จะสมัครเข้า OECD เพื่อยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจไทย
ด้านนายกฯ ญี่ปุ่น ได้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนในไทย นอกจากนี้ นายกฯ ญี่ปุ่นยังเสนอจัดตั้งกลไก Energy and Industrial Dialogue กับไทยเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม โดยนายกฯ จะมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับญี่ปุ่นต่อไป
ส่วนของความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงสถานการณ์ในเมียนมาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งไทยกำลังหารือกับเมียนมาเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และขอให้ญี่ปุ่นมาร่วมสร้างสันติภาพในภูมิภาค ขณะที่ประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ
นายกฯ กล่าวขอบคุณสำหรับความห่วงใยเรื่องตัวประกันคนไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องและมีท่าทีที่สอดคล้องกันที่เห็นว่าทุกฝ่ายควรยุติความรุนแรงและหาทางออกผ่านการหารือ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มอบสาเก ซึ่งทำจากข้าวไทย ชื่อ awamori เป็นของขวัญให้แก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจนเกิดเป็น fusion ของ Soft power ของทั้งสองประเทศ
โฆษกรัฐบาล ยังระบุด้วยว่า นายกฯ ยังได้พูดคุยกับผู้นำอีกหลายประเทศ ดังนี้
สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้พูดคุยเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการกงสุลเพื่ออำนวยความสะดวกคนไทย และคนกัมพูชาเดินทางระหว่างกันบริเวณเสียมราฐ
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม หารือเพื่อรื้อฟื้นความร่วมมือในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ซึ่งกำหนดไว้อย่างคร่าวๆว่าจะจัดครั้งต่อไปในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2567 และเป็นโอกาสให้ทั้งสองประเทศซึ่งเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกได้พูดคุยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรข้าวของทั้งสองประเทศ
อีกทั้งยังได้พูดคุยเรื่องความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ซึ่งจะจัดเป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยใช้จุดเด่นด้านความเชื่อมโยงของไทย ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ฝ่ายอินโดนีเซียยืนยันจะขอซื้อข้าวจากไทย 1 ล้านตันภายในปีนี้ หรือหากมีข้อจำกัดจะขอซื้อ 2 ล้านตันภายในปีหน้า โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ติดตามในเรื่องนี้ รวมทั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้กล่าวว่านักธุรกิจอินโดนีเซียมีความต้องการที่จะร่วมลงทุนในโครงการ Landbridge ของไทยด้วย