ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ UNHCR ย้ำปัญหาผู้อพยพลี้ภัย “ไม่ใช่เรื่องไกลตัว”  

31 ม.ค. 2567 | 09:28 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2567 | 09:51 น.

โลกกำลังเผชิญวิกฤติผู้อพยพลี้ภัยที่เพิ่มจำนวนกว่า 6 เท่าในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่อาจกล่าวได้ว่าภูมิภาคใดในโลกว่างเว้นจากปัญหาผู้ลี้ภัย ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ฯ สำนักงาน UNHCR ประจำประเทศไทย กล่าวว่า นี่คือความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ และไม่ใช่เรื่องไกลตัว

 

นายจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทิส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การทำงานด้านมนุษยธรรมเพื่อผู้ลี้ภัยท่ามกลางวิกฤติโลก” ภายใน งาน GEPOLITICS 2024 จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับสื่อในเครือเนชั่น วันนี้ (31 ม.ค.) ย้ำว่า ปัญหาผู้ลี้ภัย ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างแรงกดดันให้กับหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่าง UNHCR และรัฐบาลนานาประเทศทั่วโลก

สาเหตุที่ปัญหาผู้ลี้ภัยจะเป็นปัญหาที่ขยายตัวและตึงมือมากขึ้นสำหรับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) มีหลายเหตุปัจจัย ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) แต่โดยหลักๆแล้ว สาเหตุใหญ่ยังคงเป็นภัยสงครามและข้อพิพาทระหว่างประเทศ ที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องอพยพลี้ภัยออกจากบ้านเกิดเมืองนอนไปหาที่พำนักพักพิง-เอาชีวิตรอดในประเทศอื่นๆ

จูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทิส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย

ย้อนไปราว 20 ปีที่แล้วในปี ค.ศ.2003 สถิติจำนวนผู้อพยพลี้ภัยทั่วโลกจากสาเหตุต่างๆ มีราว 17.1 ล้านคนเท่านั้น แต่ 10 ปีให้หลัง ค.ศ. 2013 ก็ขยับเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 51.2 ล้านคน และปีที่ผ่านมา (2023) จำนวนผู้อพยพลี้ภัยทบทวีกว่าเท่าตัวเป็น 114 ล้านคน พวกเขาถูกสถานการณ์ “บีบบังคับ” ให้ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน

“มี 6 ประเทศหลักๆ ที่เป็นประเทศต้นทางของผู้ลี้ภัยในปัจจุบันนี้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าทุกภูมิภาคในโลกไม่มีที่ใดที่ว่างเว้นจากปัญหาผู้ลี้ภัย” ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ UNHCR ประจำประเทศไทยกล่าว พร้อมให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในจำนวนผู้อพยพ 114 ล้านคนที่เป็นตัวเลขในปี 2023 นั้น มากกว่าครึ่งหรือราว 52% มาจากเพียง 3 ประเทศที่กำลังเผชิญภัยสงคราม คือ

  1. ซีเรีย 6.5 ล้านคน
  2. ยูเครน 5.7 ล้านคน
  3. อัฟกานิสถาน 5.7 ล้านคน

อีก 3 ใน 6 ประเทศต้นทางผู้อพยพหลักๆ ยังได้แก่ เวเนซุเอลา (5.6 ล้านคน) เซาธ์ซูดาน (2.3 ล้านคน) และเมียนมา เพื่อบ้านของไทย 1.3 ล้านคน

ในจำนวนผู้อพยพ 114 ล้านคนที่เป็นตัวเลขในปี 2023 นั้น มากกว่าครึ่ง (52%) มาจากเพียง 3 ประเทศที่กำลังเผชิญภัยสงคราม

“ในสภาวะโลกไร้ระเบียบ (World Disorder) มีผู้คน 1 คนในทุกๆ 73 คนบนโลก ถูกบีบบังคับด้วยสถานการณ์ให้ต้องกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัย 15% ของพวกเขาเป็นสตรีและเด็ก พวกเขาต้องอพยพเพื่อความอยู่รอด ในปีที่ผ่านมา (2023) เรามีหน่วยงานของ UNHCR คอยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพลี้ภัยใน 29 ประเทศทั่วโลก เราต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินใหม่ๆด้านผู้ลี้ภัยในทุกๆ 10 วัน นี่คือสถานการณ์ที่ทำให้ภารกิจของเราตึงมือมากขึ้น”

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ UNHCR ย้ำปัญหาผู้อพยพลี้ภัย “ไม่ใช่เรื่องไกลตัว”  

นาย เด วินเซ็นทิส กล่าวว่า ประเทศจุดหมายปลายทางของผู้ลี้ภัยไม่ใช่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เพราะอันที่จริง 70% ของผู้ลี้ภัยทุกวันนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ปานกลางซึ่งยอมให้ที่พักพิง รวมทั้งประเทศไทยที่ UNHCR ได้เข้ามาเริ่มทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นครั้งที่สองในปี 1981 (พ.ศ. 2524) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานด้านมนุษยธรรมในช่วงวิกฤติผู้ลี้ภัยโดยทางเรือจากสงครามอินโดจีน

“เราทำงานร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดมาหลายยุคสมัยเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย ซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา ลาว หรือเมียนมา” ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย กล่าวย้ำว่า

สหประชาชาติและรัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ตลอดไป สิ่งที่มุ่งหวังนั้นคือการช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเมื่อสถานการณ์ต่างๆคลี่คลายและพวกเขาต้องกลับไปอย่างปลอดภัย แต่ขณะนี้ในความเป็นจริง สถานการณ์ยังไม่เป็นเช่นนั้น

"เราต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินใหม่ๆด้านผู้ลี้ภัยในทุกๆ 10 วัน นี่คือสถานการณ์ที่ทำให้ภารกิจของ UNHCR ตึงมือมากขึ้น"

“จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเมียนมา ทำให้เกิดผู้อพยพย้ายถิ่นฐานภายในประเทศนับล้านคน และมีผู้อพยพที่จ่ออยู่ในแนวเขตชายแดนติดกับประเทศไทยนับแสนคน เราจึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่า เรื่องของผู้อพยพลี้ภัยเป็นเรื่องไกลตัว”

“ดังนั้น สิ่งที่ทำได้และควรต้องทำ คือการช่วยเหลือให้พวกเขา (ผู้อพยพลี้ภัย) มีกลไกทางกฎหมายมารองรับให้สามารถเข้ารับบริการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต การเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการศึกษา แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นหนทางแก้ไขปัญหาผู้อพยพลี้ภัยอย่างแท้จริง คือ การหาทางออกให้กับความขัดแย้งหรือการยุติภาวะสงครามในประเทศต้นทาง ซึ่งนั่นก็ต้องอาศัยการตัดสินใจทางการเมืองเป็นกลไกสำคัญ”