รู้จักปรากฏการณ์ “Atmospheric River” ทำ LA เสี่ยงหายนะจากน้ำท่วมฉับพลัน

04 ก.พ. 2567 | 20:55 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2567 | 23:15 น.

“ลอสแองเจลิส” กำลังเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากปรากฏการณ์ Atmospheric River หรือ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” ที่เป็นสภาพอากาศรุนแรง อาจทำให้เกิดพายุติดต่อกันซึ่งจะทำให้ฝนตกปริมาณมากเทียบเท่าฝนตก 6 เดือนภายในเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น 

 

สภาพอากาศรุนแรง ที่เรียกว่า “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” หรือ Atmospheric River ไม่ได้หมายถึงแม่น้ำสายใดๆบนพื้นผิวโลก แต่หมายถึงกระแสของไอน้ำในชั้นบรรยากาศ ที่มีความกว้างประมาณ 400 - 600 กิโลเมตร เป็นกระแสไอน้ำตามธรรมชาติที่ไหลเวียนเป็นแนวยาวเหมือนแม่น้ำบนท้องฟ้า อันเป็นที่มาของชื่อ Atmospheric River กระแสไอน้ำดังกล่าวไม่เพียงพัดพานำความชุ่มชื้นไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก แต่ยังทำให้เกิด พายุฝนและน้ำท่วมฉับพลัน ได้ในหลายพื้นที่

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ โนอา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ที่มุ่งศึกษา-ติดตามสภาวะของมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศ เปิดเผยว่า สภาวะ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” หรือ Atmospheric River ดังกล่าวข้างต้น กำลังมุ่งหน้าสู่แคลิฟอร์เนียทางตอนใต้ ทำให้หลายพื้นที่ รวมทั้ง นครลอสแองเจลิส (LA) ตกอยู่ในสภาวะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

เมฆฝนปกคลุมท้องฟ้าขณะสภาวะ Atmospheric River ไหลเลื่อนเข้าครอบคลุมรัฐแคลิฟอร์เนียทางตอนใต้  (ภาพจาก NASA)

ทั้งนี้ ประกาศเตือนระบุว่า มี “ความเสี่ยงสูงมาก” ที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมถึงนครลอสแองเจลิสที่มีประชากรหนาแน่น ในวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ 4 และ 5 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากสภาวะ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” ขนาดใหญ่ที่กำลังเลื่อนไหลปกคลุมบริเวณดังกล่าว จะก่อให้เกิดฝนตกหนัก ระดับน้ำฝนสูงได้ถึง 5 นิ้วในเขตเมือง และระดับน้ำฝนอาจสูงกว่า 10 นิ้วในเขตที่สูงและเนินเขา

“น้ำท่วมฉับพลันอาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เสี่ยงสูง รวมทั้งในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน” ประกาศเตือนของศูนย์พยากรณ์อากาศซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด NOAA ระบุเมื่อวันอาทิตย์ (4 ก.พ.) สอดคล้องกับประกาศอุตุนิยมวิทยาของนครลอสแองเจลิส ที่เตือนว่าอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันเป็นวงกว้างและมีความรุนแรงในวันจันทร์นี้ (5 ก.พ.) โดยพื้นที่เสี่ยงจะครอบคลุมเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ขอให้ประชาชนระมัดระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำ ลำธาร รวมทั้งแม่น้ำลอสแองเจลิส ที่จะสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และอาจไหลบ่าแรงจนเป็นอันตราย และถนนหลายสายจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งดินถล่มที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีประกาศเตือนเกี่ยวกับพายุฝนฟ้าคะนองที่อาจมีความรุนแรงบริเวณชายฝั่งแคลิฟอร์เนียตอนกลาง พายุบางลูกอาจก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “นาคเล่นน้ำ” (waterspout) หรือ พวยน้ำ เป็นน้ำที่พุ่งเป็นลำขึ้นไปในอากาศเนื่องจากลมทอร์นาโด ดูคล้ายท่อน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างผืนฟ้าและพื้นน้ำ

ศูนย์พยากรณ์อากาศสำนักข่าวฟ็อกซ์ (FOX Forecast Center) เผยว่า ปรากฎการณ์ “แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ” ครั้งนี้ จะแตกต่างจากครั้งล่าสุดที่ไหลเลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะครั้งนี้คาดว่าจะอยู่นานถึงสามวันและทำให้ฝนตกหนักได้จนถึงวันอังคาร โดยภาวะฝนตกหนักที่สุดจะอยู่ในช่วงวันอาทิตย์และวันจันทร์ (ตามเวลาท้องถิ่นในแคลิฟอร์เนียซึ่งช้ากว่าเวลาไทยราว 15 ชั่วโมง)  

ฝนตกหนักจนยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะน้ำท่วมฉับพลัน

นั่นหมายความว่าภายในสองสามวันนี้ ย่านใจกลางธุรกิจของนครลอสแองเจลิสอาจเผชิญปริมาณน้ำฝนสูงถึง 5 นิ้ว ขณะที่ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 14 นิ้วเท่านั้น ส่วนบริเวณพื้นที่สูงและเนินเขาซึ่งมักจะเจอน้ำท่วม-น้ำหลากได้มากกว่า คาดว่าฝนตกหนักครั้งนี้อาจทำให้มีปริมาณน้ำฝนสูง 10-12 นิ้ว

“นี่มันเป็นฝนประเภทที่อยู่เหนือการควบคุมแล้ว รับประกันได้ว่ามีน้ำท่วมแน่ๆ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง สถานการณ์เลวร้ายและจะสร้างผลกระทบอย่างหนัก” บริตตา เมอร์วิน เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศของ FOX Forecast Center กล่าว  

ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ก.พ.) มีการประกาศให้ผู้คนเริ่มเตรียมตัวอพยพแล้วในบางพื้นที่เช่นเขตซานตาบาบารา การเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันระดับ 3 และ 4 นั้นครอบคลุมพื้นที่แนวชายฝั่งไล่ขึ้นไปทางตอนบนจนถึงอ่าวซานฟรานซิสโก

ในขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติครั้งนี้ไม่เพียงนำพายุฝนมาสู่ตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ยังนำพายุหิมะมาด้วยและจะทำให้ในพื้นที่ที่เป็นหุบเขามีหิมะสูง 4-6 ฟุต ขณะที่ชายฝั่งของแคลิฟอร์เนียตอนกลางจะเผชิญลมแรงและพายุ

มีการประกาศเตือนเกี่ยวกับลมกระโชกแรงตามแนวชายฝั่งและภูเขาบริเวณชายฝั่ง โดยความเร็วลมอาจสูงถึงถึง 50-60 ไมล์ต่อชั่วโมง และจะแรงยิ่งขึ้นเป็น 70-80 ไมล์ต่อชั่วโมงในบริเวณเขตภูเขา ซึ่งอาจทำให้เกิดต้นไม้หักโค่นและไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง