นายแดน กัลลิแกน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ องค์กรเคนโกรเออร์ส (Canegrowers) หรือ องค์กรเกษตรกรชาวไร่อ้อยแห่งออสเตรเลีย เปิดเผยว่า พายุไซโคลนแจสเปอร์ (Jasper) ก่อให้เกิด ฝนตกหนักและน้ำท่วม ใน รัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศออสเตรเลีย (น้ำตาล 95% ของทั้งหมดผลิตที่รัฐนี้ นอกนั้นราว 5% ผลิตทางตอนเหนือของรัฐนิวเซาธ์เวลส์) ฟาร์มบางแห่งได้สูญเสียอ้อยที่ปลูกไปมากถึง 60% โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายในภาพรวม
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไซโคลนแจสเปอร์เป็นพายุไซโคลนลูกแรกที่ขึ้นฝั่งออสเตรเลียในฤดูกาลนี้ ซึ่งทำให้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน โดยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่งผลให้ไฟฟ้าดับในเขตอยู่อาศัยบางส่วนทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ผู้คนต้องหนีน้ำขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน นอกจากอ้อยแล้ว พืชผลต่าง ๆ เช่น กล้วย ก็จมอยู่ใต้น้ำ
รัฐควีนส์แลนด์ผลิตน้ำตาลเป็นสัดส่วนราว 95% ของทั้งออสเตรเลีย โดยนายกัลลิแกนกล่าวว่า พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมนั้นคิดเป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่เพาะปลูกพืชให้น้ำตาลของประเทศ ซึ่งก็คืออ้อย (sugarcane) นั่นเอง
แม้อ้อยส่วนใหญ่จะได้รับการเก็บเกี่ยวก่อนที่พายุจะข้ามชายฝั่งมาถึง แต่คาดว่าผลกระทบจากพายุลูกนี้ จะส่งผลต่อการเพาะปลูกรวมทั้งผลผลลิตในปี 2567
"เรายังไม่ถึงช่วงที่ฝนตกหนักมากที่สุดของฤดูฝน ดังนั้น ในช่วงที่เราข้ามผ่านเดือนม.ค.และเดือนก.พ. จึงมีความกังวลอยู่ว่าสถานการณ์อาจแย่ลง หากมีฝนตกหนักมากขึ้น หรือมีพายุไซโคลนมาอีก" นายกัลลิแกนให้ความเห็น
ทั้งนี้ รายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำบาร์รอนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2520 โดยน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำได้ไหลเข้าท่วมสนามบินในเมืองแคร์นส์ จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเที่ยวชมแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) อันเลื่องชื่อ ซึ่งเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่รับรองโดยยูเนสโก
ผลของฝนตกหนักที่ซ้ำเติมสถานการณ์สำหรับชาวไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลก็คือ สะพานรถไฟที่ข้ามแม่น้ำบาร์รอนซึ่งเป็นเส้นทางสำหรับการขนส่งลำเลียงอ้อยที่ตัดแล้วไปยังโรงงานหีบอ้อย ถูกน้ำซัดพัง ขณะที่เส้นทางรถไฟก็ถูกน้ำท่วมเสียหาย ทำให้ต้องใช้เส้นทางขนส่งทางถนนแทน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลามากขึ้นและมีต้นทุนแพงขึ้นด้วย
รายงานข่าวระบุว่า นอกจากอ้อยแล้ว พืชเศรษฐกิจอื่นๆของออสเตรเลียก็ได้รับความเสียจากน้ำท่วมเช่นกัน อาทิ กล้วย มะม่วง และมะละกอ นายโจ เชปเพิร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาพันธ์เกษตรกรแห่งรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland Farmers’ Federation) เปิดเผยว่า รัฐควีนส์แลนด์เป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยแหล่งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย นอกจากนี้ สวนลิ้นจี่และส้มหลายแห่งก็ยังคงจมอยู่ใต้น้ำ เกษตรกรมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากความจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซลมากขึ้นสำหรับเครื่องปั่นไฟฟ้าเนื่องจากหลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้หลังพายุฝนพัดกระหน่ำ นอกจากนี้ ยังต้องใช้จ่ายเพิ่มในการจ้างแรงงานและการขนส่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐในปี 2022 ชี้ว่า ออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบ (raw sugar ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายที่ได้จากกระบวนการผลิตขั้นต้น มีสีน้ำตาลเข้ม ยังมีสิ่งเจือปนเหลืออยู่และมีความบริสุทธิ์ต่ำ ต้องผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ เป็นน้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ก่อน จึงจะสามารถนำไปบริโภคได้ ) รายใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก รองจากบราซิล ไทย และอินเดีย โดยออสเตรเลียมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายดิบระหว่าง 3-4 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าราว 1,500 - 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลอ้างอิง