รู้จัก “ปราโบโว ซูเบียนโต” บิ๊กกลาโหม เต็งหนึ่งศึกเลือกตั้งปธน.อินโดฯ

10 ก.พ. 2567 | 18:10 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 05:13 น.

14 กุมภาฯ ปีนี้ นอกจากจะเป็นวันวาเลนไทน์แล้ว ยังเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งถึงวาระจะต้องมีผู้นำคนใหม่ เนื่องจากนายโจโค วิโดโด วัย 62 ปี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาครบสองสมัยแล้วและไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ใกล้เข้ามา ผู้ที่โพลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดชี้ว่า คือเต็งหนึ่งที่น่าจะได้เป็น ประธานาธิบดีคนใหม่ ต่อจากนายโจโค วิโดโด ไม่ใช่ใครที่ไหนอื่นไกล เพราะเขาคือผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในปัจจุบัน นามว่า “พล.ท. ปราโบโว ซูเบียนโต” จาก “พรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ (Great Indonesia Movement Party) หรือในชื่อภาษาท้องถิ่นว่า พรรคเกอรินทรา (Gerindra)

โพลสำรวจความเห็นล่าสุดในอินโดนีเซีย พบว่า ปราโบโว ซูเบียนโต นายพลวัย 72 ปี ได้รับคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับหนึ่งในฐานะผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี และคาดว่าจะกวาดคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

รัฐมนตรีกลาโหม ลูกเขยอดีตปธน.ซูฮาร์โต

ประวัติความเป็นมาของซูเบียนโตไม่ธรรมดา เขาเป็นอดีตทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นหนึ่งในนักการเมืองแถวหน้าของอินโดนีเซีย โดยเขาเป็นหัวหน้าพรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ ที่มีฐานเสียงอยู่ในชวา สุมาตรา กาลีมันตัน และสุลาเวสี

“ปราโบโว ซูเบียนโต” (คนขวา) บิ๊กกลาโหมคนปัจจุบัน  ผู้ลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี

รอยเตอร์รายงานว่า ประชาชน 1,200 คนที่ร่วมทำแบบสอบถามซึ่งจัดทำโดย Indikator Politik ระหว่างวันที่ 28 ม.ค. ถึง 4 ก.พ. จำนวน 51.8% ระบุว่า พวกเขาจะลงคะแนนเสียงให้กับปราโบโว และอีก 24.1% และ 19.6% จะโหวตให้กับคู่แข่งสองคน คือ นายอานีส บัสวีดัน และนายกันจาร์ ปราโนโว ตามลำดับ

ก่อนหน้านี้ พล.ท. ปราโบโว ซูเบียนโต เคยลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียมาแล้วสองครั้ง และครั้งล่าสุดที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 ก.พ.นี้ ก็จะเป็นครั้งที่สามที่คาดว่าเขาจะสมหวังเสียที เพราะสองครั้งแรกซึ่งเป็นการเลือกตั้งในปี 2014 และ 2019 ซูเบียนโตไม่สามารถเอาชนะนายโจโค วิโดโด ครั้งนี้จะเป็นการวัดใจว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งราว 205 ล้านคนของอินโดนีเซีย จะไว้ใจให้เขาเข้ามาบริหารประเทศเสียทีหรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า ซูเบียนโตเป็นบุตรเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ผู้นำเผด็จการที่ปกครองอินโดนีเซียยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ (31 ปี) ตัวเขาเองเป็นนักการเมืองที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน มีทั้งคนรักคนเกลียด โดยอย่างหลังนั้น จากการที่เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการลักพาตัวนักกิจกรรม-นักศึกษาในปี 1998 และยังละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออกและปาปัว แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ และซูเบียนโตเองก็ปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอด

ทั้งนี้ โพลของ Indikator Politik เป็นการสำรวจความเห็นที่ชาวอินโดนีเซียจับตามองมากที่สุด และแม้ที่ผ่านมา ซูเบียนโตจะมีคะแนนนิยมในโพลนี้มากที่สุด แต่ผลสำรวจครั้งล่าสุดนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เขาได้รับความนิยมมากกว่า 50%

บาร์ฮานุดดิน มูห์ตาดิ นักวิจัยจาก Indikator Politik ระบุว่า ค่าความนิยมของนายพลซูเบียนโตที่ทะลุเกินครึ่งครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเลือกตั้งรอบสองในเดือนมิถุนายน ในกรณีที่ไม่มีผู้ลงสมัครรายใดในครั้งนี้ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็มีโอกาสน้อยลง

ตัวช่วยคือ “คู่หู” ที่ลงสมัครชิงตำแหน่งรองปธน.

ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ปราโบโว ซูเบียนโต สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และบุคคลที่มาเป็นคู่หูของเขาเพื่อชิงตำแหน่ง “รองประธานาธิบดี” ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนายยิบราน รากาบูมิง รากา บุตรชายสุดหล่อวัย 36 ปีของนายโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียคนปัจจุบันนั่นเอง

การลงสนามเลือกตั้งคู่กันของบุคคลต่างวัยทั้งสอง (72 ปี กับ 36 ปี) ในฐานะทีมผู้ลงสมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี เรียกคะแนนนิยมได้ไม่น้อย เพราะปธน.วิโดโด ยังคงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนในระดับสูง อานิสงส์เรื่องนี้จึงตกมาถึงบุตรชายของเขาด้วย ขณะที่ตัวนายรากาเอง ก็เป็นนายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตา ทางตอนกลางของเกาะชวา (เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนก.พ. 2564) มีฐานเสียงของตนเองอยู่ในระดับหนึ่ง แม้จะอ่อนพรรษาทางการเมืองเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ แต่เขาก็อาจจะได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ กว่าครึ่งของชาวอินโดนีเซียผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง จำนวน 204.8 ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชนอายุยังไม่เกิน 17 ปี ซึ่งเป็นอายุขั้นต่ำสำหรับการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย

ซูเบียนโต (ซ้าย) สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คู่นายยิบราน รากาบูมิง รากา บุตรชายของผู้นำอินโดนีเซียคนปัจจุบัน

นักวิเคราะห์การเมืองอินโดฯกล่าวว่า การที่ซูเบียนโตเลือกรากา บุตรชายปธน.วิโดโด มาเป็นคู่หูในการเลือกตั้งนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด เพราะตัวซูเบียนโตเองก็ได้ประกาศจุดยืนแล้วว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป เขาจะสานต่อนโยบายของนายวิโดโดเพื่อความต่อเนื่องของการพัฒนาและขับเคลื่อนพลวัตรการเติบโตของประเทศ ไม่ให้ต้องสะดุดขัด

นอกจากนี้ นายรากาซึ่งมาจากพรรค พีดีไอ-พี (PDI-P หรือในชื่อเต็มว่า พรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้) ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับนายวิโดโด บิดาของเขา ก็เป็นตัวเลือกที่ พรรคการเมืองทุกพรรคที่เป็นพันธมิตรกับพรรคเกรินทราของนายพลซูเบียนโต ให้การสนับสนุน

วิโดโดปัดข้อกล่าวหา "ไม่เป็นกลาง"

อย่างไรก็ตาม เหรียญมีสองด้าน แม้การจับคู่ลงสนามเลือกตั้งของบุคคลทั้งสองจะมีแต้มต่อและความได้เปรียบ แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในเรื่อง “การวางตัวเป็นกลาง” ของประธานาธิบดีวิโดโด ซึ่งในระยะหลังเขาถูกวิจารณ์หนักขึ้นว่า ให้การสนับสนุนซูเบียนโตอย่างไม่เปิดเผย ทั้งที่วิโดโดเองก็ปฏิเสธมาโดยตลอด และยังไม่ประกาศสนับสนุนผู้สมัครรายใด รวมทั้งบุตรชายของเขาเอง โดยวิโดโดยืนยันว่า ไม่เคยมีความคิดให้บุตรชายหรือสมาชิกคนใดในตระกูล เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง และเขาจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่บุคคลใดอย่างเด็ดขาด

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจของผู้สมัครแต่ละคน และแต่ละพรรคการเมือง” ผู้นำอินโดฯกล่าวกับสื่อเหมือนเป็นการออกตัวว่า การตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งของบุตรชายก็เป็นการตัดสินใจของบุตรชายเอง ซึ่งเขาไม่ก้าวล่วงแต่อย่างใด

คู่หูต่างวัยจะคว้าชัยชนะการเลือกตั้ง 14 ก.พ.นี้หรือไม่

แต่ถึงกระนั้นก็มีเสียงวิจารณ์ว่า การที่นายรากา บุตรชายของวิโดโด มาลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับนายซูเบียนโตได้นั้น ก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเปิดทางให้นายรากา โดยกำหนดให้บุคคลซึ่งเคยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับภูมิภาคมาก่อน สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี แม้อายุยังไม่ถึง 40 ปี และที่สำคัญก็คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีศักดิ์เป็นน้องเขยของนายวิโดโด จึงถูกวิจารณ์หนักว่าเขาใช้อำนาจเปลี่ยนกฎเกณฑ์ข้างต้นเพื่อช่วยหลาน

ทั้งนี้ โดยทั่วไป ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอินโดนีเซียจะมีท่าทีเป็นกลาง แม้กฎหมายจะเปิดทางอนุญาตให้ช่วยหาเสียงได้ตราบที่ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ แต่นายวิโดโด ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2557 และครบวาระดำรงตำแหน่ง 2 สมัย (สมัยละ 5 ปี รวม 10 ปี) ในปีนี้ กล่าวย้ำว่า เขาจะไม่ช่วยผู้สมัครรายใดหาเสียง รวมทั้งผู้สมัครจากพรรคของเขาเองด้วย คือ นายกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง ส่วนผู้สมัครอีกคนในการศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ คือ นายอานิส บาสเวดาน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ลงสมัครในนามอิสระ