ตำรวจสากล กางข้อมูล "แก๊งค้ามนุษย์" ในอาเซียน ป่วนโลกขั้นวิกฤต

28 มี.ค. 2567 | 23:43 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2567 | 00:35 น.

องค์การตำรวจสากล (Interpol) เผยปัญหาค้ามนุษย์ในอาเซียนเข้าขั้นวิกฤตโลก เครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่ทำเงินกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์จากการค้ามนุษย์และการล่อลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ กำลังสร้างปัญหาในระดับโลกที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

องค์การตำรวจสากล หรือ “อินเตอร์โปล” (Interpol) แถลงข่าวที่ประเทศสิงคโปร์กลางสัปดาห์นี้ (27 มี.ค.) ระบุว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จุดชนวนให้เกิดคลื่น การค้ามนุษย์ และ ศูนย์คอลเซนเตอร์ ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ลุกลามสร้างปัญหาไปทั่วประเทศในแถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำรายได้ที่ระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี กำลังกลายเป็นวิกฤตระดับโลกที่น่ากังวล

นายเยอร์เกน สต็อค เลขาธิการขององค์การตำรวจสากล เปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ในอาเซียนว่า มีแรงขับเคลื่อนจากการไม่เปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์ ได้แรงบันดาลใจจากโครงสร้างธุรกิจใหม่ และเร่งตัวเพิ่มขึ้นด้วยการระบาดของโควิด-19 ทำให้บรรดาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติทำงานกันในระดับที่ไม่อาจจินตนาการได้เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน

“สิ่งที่เริ่มต้นจากภัยคุกคามด้านอาชญากรรมระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กลายเป็นวิกฤตค้ามนุษย์ระดับโลก ที่มีเหยื่อนับล้านๆ ทั้งที่อยู่ในศูนย์คอลเซนเตอร์ และที่เป็นเป้าหมายของอาชญากรข้ามชาติเหล่านี้” เลขาฯ อินเตอร์โปล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า

นายเยอร์เกน สต็อค เลขาธิการขององค์การตำรวจสากล

ถึงแม้ธุรกิจค้ายาเสพติดยังคงสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 40-70% ให้กับองค์กรเหล่านี้ แต่ศูนย์คอลเซนเตอร์ใหม่ ๆ ซึ่งมักมีแรงงานที่ถูกล่อลวงมาว่าจะให้ทำงานที่ถูกกฎหมายแต่สุดท้ายก็ถูกผลักเข้าทำงานด้านมืดและตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ ก็ได้กลายมาเป็นช่องทางใหม่ที่ช่วยให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมีรายได้เพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการค้ายาเสพติด

“เราได้เห็นกลุ่มอาชญากรข้ามชาติกระจายเส้นทางรายได้ในธุรกิจอย่างชัดเจนขึ้น ทั้งการค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสินค้าและรถที่โจรกรรมมา”

อินเตอร์โปลยังกล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ ธนาคารหรือคนทั่วไป ไม่ค่อยได้ถูกปล้นด้วยการใช้ปืนจี้แล้ว แต่กลับมาถูก "ปล้น" จนหมดเนื้อหมดตัวโดยแก๊งอาชญากรรมที่ใช้เพียง "แป้นคีย์บอร์ด" ดำเนินการมาจากอีกซีกโลกหนึ่ง

เที่ยวบินเช่าเหมาลำนำผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง-ล่อลวงออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากเมียนมากลับมายังจีน (ภาพข่าวซินหัว)

ทั้งนี้ ประเมินว่า รายได้ที่ผิดกฎหมายราว 2-3 ล้านล้านดอลลาร์ได้ส่งผ่านมายังระบบการเงินโลกในแต่ละปี และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติรายหนึ่งๆ สามารถทำรายได้มากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ถือว่าเป็นเงินมหาศาลเมื่อลองนำมาเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วอย่างฝรั่งเศส ที่มีจีดีพีขนาด 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

“นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ตำรวจสากลในเอเชียสามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาคดีต่างๆได้เกือบ 3,500 ครั้ง สามารถยึดทรัพย์สินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ใน 34 ประเทศ” สต๊อคกล่าว  

ด้านองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยเมื่อปีที่ผ่านมา (2566) ว่า มีผู้คนมากกว่า 100,000 คนที่ตกเป็นเหยื่อให้เข้าไปทำงานในศูนย์คอลเซนเตอร์ที่กัมพูชา และเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน เมียนมาได้ส่งตัวผู้ต้องหาแก๊งคอลเซนเตอร์ชาวจีนหลายพันคนให้กับทางการจีน นอกจากนี้ ยังมีแก๊งอาชญากรรมในลักษณะเดียวกันนี้ในลาว ไทย และฟิลิปปินส์ ทำธุรกิจมืดที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางออนไลน์ การชักชวนให้เล่นพนันหรือหลอกให้ลงทุนคริปโต รวมทั้งการหลอกให้รักแล้วลวงเอาเงิน

 

ข้อมูลอ้างอิง