หลังจากที่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ชี้แจงวานนี้ (8 เม.ย.) กรณีอนุมัติ เที่ยวบินพิเศษของเมียนมา ที่ สนามบินแม่สอด จ.ตาก ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ศูนย์ข้อมูลกะเหรี่ยง (Karen Information Center: KIC) ได้เปิดเผยข้อมูลอ้างอิงแหล่งข่าววงการธนาคารในวันนี้ (9 เม.ย.) ระบุว่า เครื่องบินเที่ยวแรกที่รัฐบาลทหารเมียนขอมาใช้สนามบินแม่สอดนั้น ได้ขนเงินจากธนาคารที่ตั้งอยู่ในเมียวดีซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย กลับไปยังกรุงย่างกุ้ง ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบที่สื่อต่างประเทศรายงานว่า กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และพันธมิตร ได้เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมียวดีได้สำเร็จแล้วตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ศูนย์ข้อมูล KIC เปิดเผยโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากธนาคารเมียนมา อีโคโนมิก แบงก์ (Myanma Economic Bank) ของรัฐบาลทหารสาขาเมืองเมียวดีว่า เครื่องบินเที่ยวแรกที่รัฐบาลทหารเมียนมาขออนุมัติใช้สนามบินแม่สอด จ.ตากเมื่อคืนวันอาทิตย์นั้น (7 เม.ย.) นั้นได้ขนเงินจากธนาคารสาขาดังกล่าวและธนาคารเอกชนแห่งอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองเมียวดี เช่น ธนาคาร KBZ เพื่อกลับไปยังย่างกุ้ง
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวระบุว่า ผู้บริหารรายหนึ่งจากธนาคารเมียนมา อีโคโนมิก แบงก์ ได้ขนย้ายเงินด้วยรถ โดยใช้สะพานหมายเลขสองที่เชื่อมระหว่างเมียวดีกับแม่สอด มุ่งไปยังสนามบินแม่สอดเพื่อขนเงินดังกล่าวขึ้นเครื่องบินเป็นลำดับต่อไป
ด้านสำนักข่าวอิรวดีรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาและครอบครัวในพื้นที่เมียววดี ได้รับคำสั่งให้เตรียมความพร้อมเพื่อเดินทางไปกับเที่ยวบินอพยพ
ทั้งนี้ เมียนมาได้ขอใช้สนามบินแม่สอด จ.ตาก ลำเลียงผู้โดยสารและสิ่งของผ่านเที่ยวบิน 3 เที่ยวเป็นเวลา 72 ชั่วโมงระหว่างวันที่ 7-9 เม.ย.นี้ ทั้งบินจากย่างกุ้งไปแม่สอด และบินจากแม่สอดไปย่างกุ้ง หลังจากที่กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และพันธมิตรอย่างกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมียวดีได้สำเร็จ โดยปัจจุบันมีเพียงกองพันทหารราบที่ 275 และฐานทัพอีกไม่กี่แห่งของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยังรักษาพื้นที่ไว้ได้
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับกะเหรี่ยงเคเอ็นยูระบุเมื่อคืนวันอาทิตย์ (7 เม.ย.) ว่า กลุ่มหัวหน้าแผนก เช่น บุคลากรระดับผู้บริหาร ได้ถูกพาตัวกลับเมียนมาผ่านเที่ยวบินพิเศษดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนของไทยรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (8 เม.ย.) ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้ยกเลิกแผนอพยพบุคลากรที่ติดอยู่ในเมียวดีไปยังย่างกุ้งผ่านสนามบินแม่สอดแบบกะทันหัน หลังจากเครื่องบินเที่ยวแรกเดินทางถึงสนามบินแม่สอดเมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ (7 เม.ย.)
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าประชุมครม.เช้าวันนี้ (9 เม.ย.) ว่า สถานการณ์ในเมียนมามีการสู้รบกันหนัก และประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า มีชาวเมียนมาเข้ามาในไทยในจำนวนมาก แต่จะมีเดินทางเข้ามาบ้างประปรายจากที่เคยเดินทางเข้ามาอยู่แล้ว และที่เครื่องบินโดยสารจากเมียนมา 1 ลำมาลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด (เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย.) นั้น ปกติก็มีการขอมาจอดเป็นประจำ โดยเฉพาะเครื่องบินที่เป็นเครื่องบินพาณิชย์ไม่ใช่เครื่องบินทหาร เมื่อขออนุญาตมา ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้องทางกระทรวงการต่างประเทศก็ออกใบ clearance เพื่อให้สายการบิน บินมาในประเทศไทยได้
“ครั้งนี้ก็เป็นการขอมาจากเอกอัครราชทูตของเมียนมาประจำประเทศไทยและขอความร่วมมือ เนื่องจากมีสถานการณ์ในเมียนมาและมีประชาชนได้รับผลกระทบ อาจมีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศไทยในเรื่องของมนุษยธรรม ซึ่งเราก็ตอบรับในเรื่องของมนุษยธรรม” นายปานปรีย์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ตอนแรกเมียนมาขอบินมา 3 ครั้ง คาดว่าน่าจะมีประชาชนชาวเมียนมาข้ามชายแดนมาเยอะ แต่สุดท้ายก็ปรากฏว่าไม่มี ก็เข้าใจ ว่าอาจจะมีการเจรจากันระหว่างกลุ่มที่ต่อสู้กันในพื้นที่ อาจจะมีการตกลงกันได้ ทำให้ไม่ต้องขนคนไป และคาดว่าอาจจะมีข้าราชการเข้ามาแต่สุดท้ายไม่ได้เข้ามา ซึ่งโดยปกติทางการทูตไม่ว่าจะเป็นประเทศใด เราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบข้าราชการของเขา แต่ทั้งหมดนี้ ก็ผ่านชายแดนมาเรียบร้อย ซึ่งในการตรวจสอบที่ชายแดนเรียบร้อย และยืนยันได้ว่าไม่มีอาวุธ ไม่มีกำลังพล ไม่มีทหาร และเดิมที่จะเดินทางเข้ามาก็ขอยกเลิกไปไม่ได้เดินทางเข้ามา ดังนั้น เหลือแต่เอกสารทางราชการที่ส่งกลับไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์(8 เม.ย.) ทางกต.โดยนายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้แถลงข่าวชี้แจงอย่างเป็นทางการ กรณีการอนุมัติเที่ยวบินพิเศษของเมียนมาที่ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ได้รับคำขอจากสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 6 เม.ย. โดยตอนแรกขออนุมัติเที่ยวบินพิเศษ 3 เที่ยว ในวันที่ 7, 8, 9 เม.ย. 2567 เส้นทางย่างกุ้ง-แม่สอด เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสิ่งของ อย่างไรก็ตาม ต่อมาฝ่ายเมียนมาได้แจ้งขอยกเลิกเที่ยวบินในวันที่ 8 และ 9 เม.ย.โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล
เมื่อไทยได้รับคำขอดังกล่าว และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วน และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการอพยพบุคลากรของเมียนมาพร้อมครอบครัวไปยังพื้นที่ปลอดภัย จึงมีการตัดสินใจในระดับรัฐบาลที่จะอนุมัติคำขอของฝ่ายเมียนมาด้วยเหตุผล “ด้านมนุษยธรรม”
"ที่ผ่านมาไทยให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายในเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยหน่วยงานความมั่นคงมีแนวทางปฏิบัติชัดเจนในการบริหารจัดการหากเกิดกรณีมีผู้บาดเจ็บ หรือมีผู้ขออพยพข้ามแดนมาฝั่งไทย โดยจะไม่อนุญาตให้นำอาวุธจากฝ่ายใดๆ เข้ามาฝั่งไทย"
นายปานปรีย์ยังกล่าวด้วยว่า วันนี้ (9 เม.ย.) ก็มีการประชุมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้เชิญฝ่ายความมั่นคงเข้ามา เพราะมีความเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นทางประเทศไทยจะเตรียมสถานการณ์รองรับได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็ได้รับรายงานว่า ปัจจุบันนี้ มีการเตรียมแผนรองรับแล้ว น่าจะรับได้ประมาณ1 แสนคน เข้ามาในที่ปลอดภัยชั่วคราว ก็มีคำถามต่อไปว่า ถ้ามีจำนวนคนเข้ามามากกว่าแสนคนจะทำอย่างไร ผู้รับผิดชอบก็แจ้งว่าสามารถที่จะดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้กำลังติดต่อกับต่างประเทศด้วย ว่าหากเกิดความรุนแรงแล้วมีคนเข้ามาเป็นหลักแสนเราจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งประเทศไทยไม่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้โดยลำพัง ก็ต้องเชิญชวนต่างประเทศเข้ามาร่วม
อีกเรื่องคือเรื่องการค้าชายแดน ซึ่งนายกมีความเป็นห่วง และก่อนหน้านี้การค้า บริเวณชายแดนโดยเฉพาะที่แม่สอด ก็ลดลงมาก ตอนนี้ข้าราชการกรมศุลกากร ตม.ฝั่งเมียนมาก็ยังทำงานเป็นปกติ แต่อาจจะไม่ได้ใส่เครื่องแบบ การค้ายังเข้า-ออกได้ปกติ หากเข้า-ออกไม่ได้ก็จะกระจายไปพื้นที่ชายแดนอื่นต่อไป
ส่วนกรณีให้เครื่องบินเมียนมาบินมาจอดที่แม่สอดจะเป็นการชักศึกเข้าบ้านหรือไม่นั้น นายปานปรีย์ยืนยันว่าไม่ เพราะไม่ใช่เครื่องบินทหาร เป็นเครื่องบินพลเรือนของเมียนมา ซึ่งปกติก็บินเข้า-ออกประเทศไทยอยู่แล้ว ตนคิดว่าไม่มีประเด็นอะไรเลยเรื่องของการชักศึกเข้าบ้าน และถามทางกองทัพก็มีความพร้อม ในกรณีที่อาจจะมีการล่วงละเมิดน่านฟ้า ว่าจะดำเนินการอย่างไร
สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะให้มีการเจรจา(หยุดยิง)นั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่า การเจรจาต้องเจรจาให้ครบทุกกลุ่ม ทั้งทางการเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาคุมได้ พื้นที่หนึ่ง อีกกลุ่มก็คุมในพื้นที่หนึ่ง ดังนั้น การเจรจาต้องเจรจาให้ได้ทุกกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ต้องทำ
เมื่อถามถึงจุดยืนของประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยืนยันประเทศไทยมีความเป็นกลางอย่างแน่นอน และมีความประสงค์ให้เกิดสันติสุขและความสงบเรียบร้อยในเมียนมา เพราะไทยได้รับผลกระทบมาก และเราได้เริ่มทำในบางส่วนแล้ว แต่เมื่อมีการสู้รบกันมากขึ้น ก็จะต้องหาทางที่จะทำให้เกิดการเจรจา เพื่อให้การสู้รบยุติลง เพื่อให้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้น
ต่อคำถามที่ว่า หากกลุ่มเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลบหนีการสู้รบเข้ามาอยู่ฝั่งไทยแล้วมาอยู่รวมกันจะทำให้เกิดความขัดแย้งกันหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งผู้รับผิดชอบ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กองทัพ ทราบอยู่แล้ว และจะเป็นผู้ที่รู้ว่าในพื้นที่ต่างๆเป็นชนกลุ่มไหน ชาติพันธุ์ไหน ดังนั้น การที่ไปเอาชาติพันธุ์ที่ไม่ถูกกันหรือคนที่เป็นของรัฐบาลมาอยู่ด้วยกัน อาจจะมีปัญหาได้ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องห่วง เราแยกแยะได้และโดยปกติแล้วประชาชนชาวเมียนมาไม่ได้แตกแยกเท่าไหร่ จะเป็นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และประชาชนชาวเมียนมาส่วนมาก ก็ข้ามไปข้ามมา ไม่รู้ว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน ไม่น่าจะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว และเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยกับสถานการณ์นี้ นายปานปรีย์กล่าวว่า ณ วันนี้ยังมีความสงบอยู่ จากที่ได้รับรายงาน มีการค้าขายกันปกติประมาณการค้าอาจจะลดน้อยลงและประชาชนอาจจะมีความกังวลอยู่บ้างว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะเกิดอะไรที่รุนแรงในพื้นที่ของเมียวดี เนื่องจากเมียวดีเป็นพื้นที่ของเศรษฐกิจโดยตรง และคิดว่าไม่มีใครมีความประสงค์ที่จะทำให้เกิดความรุนแรง
ทางกองทัพก็เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในกรณีที่เป็นเรื่องชายแดน ทางกองทัพก็จะต้องดูแล ตอนนี้ก็เพิ่มกำลังไปแล้วและดูแลอย่างใกล้ชิดเข้มงวด
เมื่อถามว่า ไทยจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นผู้ควบคุมเหมือนกรณีของจีนหรือไม่นั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่าเราไม่ได้เข้าไปควบคุมใครและเราไม่สามารถที่จะไปควบคุมรัฐบาลอื่น แต่เราทำหน้าที่ประสานงาน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในเมียนมา และไม่ใช่เฉพาะ ในเรื่องการดำเนินข้อริเริ่มด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว แต่หลังจากตรงนี้เราก็มีแผนที่จะดำเนินการในส่วนนี้อยู่แล้ว
ส่วนที่มีรายงานว่ารัฐบาลตัดสินใจ อนุญาตให้เครื่องบินลงจอด โดยไม่ได้ประสานงานกับกองทัพนั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการและเป็นไปตามขั้นตอน หลังจากที่มีเหตุการณ์ ก็มีการประสานงานเข้าประชุมสมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) เพื่อหารือว่าเกิดอะไรขึ้น และในนายกรัฐมนตรีก็รับทราบดี การจะให้ เครื่องบินเมียนมาบินเข้ามาหรือไม่ รัฐบาลรับทราบดีและตัดสินใจสอดคล้องกันผ่านสมช.
เรื่องที่ว่าจำเป็นต้องให้จีนมาร่วมหรือไม่นั้น เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ที่เป็นเรื่องของประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมา ทั้งจีน อินเดีย บังคลาเทศและลาว จะมาร่วมกันเพราะทั้ง 3-4 ประเทศนี้ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับประเทศไทย