“ดร.ปิติ”เสนอ 6 แนวทางแสวงหาทางออกต่อสถานการณ์เมียนมาอย่างยั่งยืน

12 เม.ย. 2567 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2567 | 09:31 น.

“ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” เสนอ 6 แนวทางแสวงหาทางออกอย่างยั่งยืนต่อสถานการณ์เมียนมา ที่จะกระทบต่อไทยในหลากหลายมิติ แนะรัฐบาลต้องตั้ง War Room ส่วนกลาง และ พื้นที่แม่สอด พร้อมผนึกอาเซียนหาทางแก้ปัญหา

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Piti Srisangnam ในหัวข้อ “ว่าด้วยสถานการณ์ในเมียนมา และข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย” ระบุว่า

“เรียนท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin ด้วยความเคารพ ผมขอเสนอความคิดเห็นดังนี้ครับ

1.รัฐบาลต้องจัดตั้ง War Room โดยต้องมี 2 แห่ง นั่นคือที่ส่วนกลาง ณ ทำเนียบรัฐบาล และอีกแห่ง ณ ส่วนหน้า อาจเป็นที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก หน้าที่เร่งด่วนของ War Room ไม่ใช่เพียงแค่การ update สถานการณ์ หากแต่ต้องนำแนวปฏิบัติ   (Standard Operation Procedure: SOP) ที่ได้เคยจัดทำไว้แล้วมาปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งจัดสายการบังคับบัญชา การรับ การส่ง และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ

2.แกนกลางของหน่วยงานที่จะเข้าร่วมทำหน้าที่ประจำ ณ War Room ทั้ง 2 แห่ง ต้องประกอบด้วย 

1) สมช. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยง สร้างฉากทัศน์ วางยุทธวิธีเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตย และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย 

2) กระทรวงการต่างประเทศ เน้นการทำงานประสานกับทุกฝ่ายในประเทศเมียนมา ทั้ง รัฐบาลทหาร และกองทัพ (SAC), รัฐบาลเงา (NUG) และ กลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) , ประเทศเพื่อนบ้านประชาคมอาเซียน และสำนักเลขาธิการอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ (โดยเฉพาะ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น) และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ 

3) กระทรวงกลาโหม เตรียมความพร้อมด้านกำลังคน และยุทโธปกรณ์ เพื่อ 3 กิจกรรมหลัก คือ 

ก. ปกป้องเส้นเขตแดนตลอดชายแดนทั้ง 2,401 กม. กับประเทศเมียนมา โดยเฉพาะทางบก และทางอากาศ

ข. เป็นกำลังสนับสนุนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งทางบก และในอนาคตทางทะเล 

และ ค. สนับสนุนการติดต่อประสานงานให้กับ กต. ในการติดต่อกับกองทัพเมียนมา SAC และ กลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) 4) 

กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบประสานงานกับทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในพื้นที่จังหวัดที่ติดแนวชายแดน ต้องอย่าลืมว่าในระดับจังหวัด และ ณ พื้นที่หน้างาน ผู้ว่าราชการจังหวัด และ ปกครองท้องถิ่น จะทำงานประสาน และสั่งการได้รวดเร็วมากกว่าในฐานะเจ้าของพื้นที่ 

3.ตั้งทีมโฆษก ทีมปฏิบัติการทางจิตวิทยา และทีมปฏิบัติการข่าวสารข้อมูล เพื่อแถลงข่าว update สถานการณ์ รวมทั้งประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยอย่างชัดเจน ผ่านกระบวนการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ในสภาวะวิกฤต (Crisis Communication/ Strategic Communication) เพื่อให้การสื่อสารเกิดขึ้นจากจุดเดียว ป้องกันการเข้าใจผิด และเกิดความชัดเจน ทรงพลังในการสื่อสาร โดยเน้นจุดยืนที่สำคัญที่สุดคือ 

1) ไทยต้องรักษาอธิปไตยและดำเนินกิจการทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ 

2) ไทยจะให้ความช่วยเหลือและประสานงานกับประเทศ และองค์กรต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กับผู้ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ในเมียนมาโดยไม่เลือกฝ่าย 

3) ไทยยึดมั่นในหลักการและหลักปฏิบัติตามมาตรฐานสากล 

4) ไทยจะไม่เข้าแทรกแซงกิจการประเทศเพื่อนบ้าน และจะไม่ให้ทหารอำนาจใช้ไทยเป็นทางผ่านในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน 

5) ประชาชนไทยมีความปรารถนาดีต่อประชาชนเมียนมา โดยไม่เลือกว่าเขาคนนั้น จะมีจุดยืนทางการเมืองแบบใด และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด

เพิ่มเติม ข้อ 3. ตั้ง Strategic Communication Team เพื่อวางแผน (และควบคุมกำกับดูแล) ล่วงหน้าในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่างๆ สร้าง Perception ตามที่รัฐบาลไทยต้องการต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในเมียนมา ในอาเซียน และ นอกอาเซียน รวมทั้งภายในไทยเองด้วย

4.กระทรวงการต่างประเทศ ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับ สปป.ลาว ที่เป็นประธานอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน คณะกรรมการ Troika (ผู้แทนพิเศษของ สปป.ลาว อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย) เพื่อเปิดประชุมนัดพิเศษในระดับผู้นำอาเซียน เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกต่อกรณีเมียนมา และต้องเชิญผู้นำเมียนมาทั้งจาก SAC และ NUG เข้าร่วม 

โดยไทยควรเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมกับ ประธานอาเซียน คือ สปป.ลาว ซึ่งไทยอาจสนับสนุนด้านกำลังคน องค์ความรู้ งบประมาณ และสถานที่ เพื่อให้ทั้งไทย และ สปป.ลาว เป็น peace brokers รวมถึงการใช้กลไกอาทิ AHA center และ DELSA ที่อาเซียนมีอยู่แล้วในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 

และที่สำคัญคือ ความร่วมมือและการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบหากต้องมีการให้ความช่วยเหลือประชาชา ที่จะอพยพออกจากเมียนมา  

5.รัฐบาลควรจัดทริปเพื่อนำรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คณะทูต และ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ลงพื้นที่ชายแดน (อ.แม่สอด จ.ตาก หรือ จังหวัดชายแดนอื่นๆ ที่สมควร) เพื่อให้คณะผู้แทนเหล่านี้ ได้เห็นสภาพความเป็นจริง ณ พื้นที่ส่วนหน้า โดยให้ได้มีโอกาสพบกับ กองทัพภาค ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยงานด้านสาธารณสุข คุณครู ผู้นำชุมชน ฯลฯ 

6.เร่งจะจัดประชุมระดมสมอง โดยต้องใช้กลไก Track 1.5 ประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ และ ภาควิชาการ โดยอาจทำงานร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดเวทีระดมนักวิชาการ ร่วมกับ องค์กรภาคประชาชน ทั้งจากประเทศไทย อาเซียน จีน อินเดีย บังกลาเทศ ญี่ปุ่น และ เกาหลี 

และเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ทับซ้อนลงไปอีก ดังนั้น กลไก Track 2.0 ที่ต้องประชุมร่วมกับภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน ก็สมควรต้องดำเนินการด้วยเช่นกัน

โดยทั้ง 2 ช่องทางนี้ จะนำไปสู่แนวทางการแสวงหาทางออกอย่างยั่งยืนต่อสถานการณ์เมียนมา ที่จะกระทบต่อไทยในหลากหลายมิติ