สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ทั้งสถานีโทรทัศน์เอบีซีและซีบีเอสรายงานอ้างอิงคำพูดเจ้าหน้าที่สหรัฐว่า อิสราเอล ได้เปิดการโจมตีเอาคืน อิหร่าน แล้วเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (18 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ หรือเช้าตรู่วันนี้ (19 เม.ย.) ตามเวลาตะวันออกกลาง ขณะที่ CNN ยืนยันเช่นกันว่า อิสราเอลได้ระดมโจมตีอิหร่านทางอากาศ แต่ไม่กระทบโรงงานนิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ในเมืองอิสฟาฮานของอิหร่านแต่อย่างใด
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความเห็นจากทำเนียบขาวและกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ขณะสื่ออิหร่านรายงานเกี่ยวสถานการณ์ล่าสุดว่า ทางการได้เปิดระบบป้องกันภัยทางอากาศในหลายเมือง หลังสื่อทางการรายงานว่าได้ยินเสียงระเบิดใกล้เมืองอิสฟาฮานทางภาคกลางของประเทศ
สอดคล้องกับรายงานข่าวของเอพีที่อ้างอิงแหล่งข่าวจากสำนักข่าวอิหร่านว่า ทางการอิหร่านได้สั่งระงับการบินเหนือท้องฟ้าในหลายเมืองของอิหร่าน ซึ่งอยู่ในความเตรียมพร้อมขั้นสูง หลังจากอิหร่านได้ยิงจรวด และส่งโดรนมาโจมตีอิสราเอล เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 13 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อเป็นการล้างแค้นที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศถล่มสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นเหตุให้นายทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านเสียชีวิต 7 ราย
ทั้งนี้ ข่าวการเผชิญหน้าล่าสุดนี้ ส่งผลเขย่าตลาดการเงินการลงทุนโลกในทันที โดยตลาดหุ้นโตเกียว โซล และไทเป ดิ่งกว่า 3% ขณะที่ตลาดฮ่องกงและซิดนีย์ลดลงกว่า 1% ส่วนตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ เวลลิงตัน มะนิลา และจาการ์ตา เข้าสู่แดนลบเช่นกัน
นักลงทุนพากันแห่ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยทำให้เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำเพิ่มขึ้นกว่า 1% ทะลุหลัก 2,400 ดอลลาร์
ด้านราคาน้ำมันสำคัญทั้ง WTI และเบรนท์พุ่งขึ้นกว่า 3% ด้วยความกังวลต่ออุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลาง
สำนักข่าวรอยเตอร์ รวบรวมคลังแสงทั้งระบบป้องกันตนเองทางอากาศและพลกองทัพอากาศของทั้งสองประเทศมาเปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ พบว่า
เครื่องบินรบ: F-4, F-5, F7, F14, Sukhoi-24 และ MiG-29,
โดรน: โดรนติดระเบิดและหัวรบ
ขีปนาวุธ: S-300 และ Bavar-373
ระบบป้องกันตนเองทางอากาศ: Sayyad และ Raad
กองทัพอากาศอิหร่าน เผชิญมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้ตัดช่องทางการเข้าถึงยุทโธปกรณ์การทหารอันทันสมัยของรัฐบาลเตหะราน อ้างอิงจาก International Institute for Strategic Studies (IISS) ในกรุงลอนดอน
กองทัพอากาศอิหร่านมีเครื่องบินรบเพียงหยิบมือจากรัสเซียและสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยปฏิวัติอิหร่าน อาทิ ฝูงบินขับไล่ F-4 และ F-5 จำนวน 9 ลำ เครื่องบินขับไล่ Sukhoi-24 รวมทั้งเครื่องบิน MiG-29 เครื่องบิน F7 และ F14
นอกจากนี้ อิหร่านยังมีโดรนจู่โจมและระเบิด ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่ามีในระดับไม่กี่พันลำ ที่สามารถบรรทุกหัวรบน้ำหนักราวครึ่งตันได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนของอากาศยานไร้คนขับที่จะเข้ามาถึงดินแดนของอิสราเอลได้นั้นถือว่ายังน้อยมาก
ส่วนขีปนาวุธที่มี คือ ขีปนาวุธภาคพื้นสู่อากาศระยะไกล S-300 จากรัสเซีย และ Bavar-373 ที่ผลิตเองในอิหร่าน และอิหร่านมีระบบป้องกันตนเองทางอากาศ ได้แก่ Sayyad และ Raad
ฟาเบียน ฮินซ์ นักวิจัยจาก IISS บอกกับรอยเตอร์ว่า “หากมีความขัดแย้งสำคัญระหว่างสองประเทศนี้ อิหร่านอาจมุ่งเน้นความสำเร็จของปฏิบัติการเป็นครั้งคราว เพราะพวกเขาไม่มีระบบป้องกันตนเองทางอากาศแบบองค์รวมอย่างที่อิสราเอลมี”
เครื่องบินรบ: F-15, F-16 และ F-35
โดรน: Heron
ขีปนาวุธ: Delilah
ระบบป้องกันตนเองทางอากาศ: Arrow-2, Arrow-3, David's Sling, Iron Dome
ฝั่งอิสราเอลมีกองพลของกองทัพอากาศ 34,000 นาย และพลสำรอง 55,000 นาย พร้อม มีเครื่องบินรบล้ำสมัยจากสหรัฐฯ ทั้ง F-15, F-16 และ F-35 ที่มีบทบาทสำคัญในการสกัดโดรนอิหร่านเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน แต่ยังขาดเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล และพึ่งพาฝูงบินโบอิ้ง 707 ที่กลับมาใช้ใหม่สำหรับการเติมเชื้อเพลิงให้เครื่องบินรบอิสราเอลอยู่
อิสราเอลมีโดรน Heron ที่สามารถบินได้นานกว่า 30 ชั่วโมง สำหรับปฏิบัติการระยะไกล และขีปนาวุธร่อน Delilah ทำการระยะ 250 กิโลเมตร ซึ่งแม้จะไม่ไกลถึงเป้าหมาย แต่กองทัพอากาศอิสราเอลอาจปิดช่องว่างด้วยขีปนาวุธที่มีระยะใกล้กับพรมแดนอิหร่านได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าอิสราเอลกำลังพัฒนาขีปนาวุธภาคพื้นสู่ภาคพื้นพิสัยไกลอยู่ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันในเรื่องนี้
อิสราเอลมีระบบป้องกันตนเองทางอากาศแบบหลายชั้น ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ หลังสงครามอ่าวเมื่อปี 1991 ซึ่งมอบทางเลือกให้อิสราเอลสกัดโดรนและขีปนาวุธพิสัยไกลจากอิหร่านได้ ทั้ง Arrow-2 และ Arrow-3 ที่สกัดขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกล David's Sling ระบบต่อต้านขีปนาวุธวิถีโค้งและขีปนาวุธร่อน และ Iron Dome ที่เข้าสกัดจรวดและระเบิดจากกลุ่มติดอาวุธในกาซ่าและเลบานอนที่มีอิหร่านหนุนหลัง
ซิดฮาร์ธ เคาชา นักวิจัยจาก Royal United Strategic Institute ในกรุงลอนดอน กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ระบบป้องกันทางอากาศของอิสราเอลทำงานได้ดีในการรับมือการโจมตี(13 เมษายน) แต่การจู่โจมกะทันหัน โดยเฉพาะโดรน เกิดขึ้นจากเครื่องบินของพันธมิตรที่ช่วยสกัดไว้ก่อนถึงอิสราเอล สะท้อนถึงข้อจำกัดของภัยคุกคามที่อิสราเอลรับมือได้ และต้องอาศัยการเตือนภัยและเตรียมการล่วงหน้าที่เพียงพอ
ข้อมูลอ้างอิง