สื่อในโลกตะวันตกอย่างนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ใน การโจมตีอิสราเอล ของ อิหร่าน เมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 เม.ย.) ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลและพันธมิตรชาติตะวันตกได้ทำการป้องกัน รวมทั้งยิงสกัดขีปนาวุธและโดรนพิฆาตที่ยิงมาจากหลายทิศทาง แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการยิงตรงมาจากอิหร่าน แต่ก็มีรายงาน “การโจมตีร่วม” ที่มาจาก เหล่าพันธมิตรของอิหร่าน ใน ตะวันออกกลาง ด้วยเช่นกัน
โดยนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ระบบป้องกันการโจมตีของสหรัฐได้สกัดกั้นการโจมตีของบรรดาขีปนาวุธและโดรนที่ยิงมาจากอิหร่าน อิรัก ซีเรีย และเยเมน ขณะที่กองทัพฝ่ายพันธมิตรที่มีส่วนร่วมในการ “ป้องกันตนเอง” ของอิสราเอลครั้งนี้ นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และจอร์แดน ซึ่งเปิดเผยว่า มีส่วนในการช่วยยิงโดรน และสกัดกั้นการโจมตีทางอากาศของอิหร่าน ซึ่งทำให้อิสราเอลสามารถสกัดกั้นทั้งจรวดมิสไซล์และโดรนได้ราว 99% ของทั้งหมดที่ถูกยิงเข้ามา
สำหรับความเสียหายนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นนำส่งโรงพยาบาลในอิสราเอลจำนวน 12 คน ขณะเดียวกันมีรายงานจากฝ่ายกองทัพอิสราเอลว่า ฐานทัพอากาศเนวาทิมในทะเลทรายเนเกฟทางตอนใต้ของอิสราเอลได้รับความเสียหายเล็กน้อยจากการโจมตีครั้งนี้ แต่ก็ยังสามารถปฏิบัติงานได้อยู่
เรามาดูกันว่า พันธมิตรร่วมรบของอิหร่านมีใครบ้าง สองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน และกลุ่มติดอาวุธฮูตี (Houthi rebel) ในเยเมน
กองกำลังติดอาวุธที่ร่วมโจมตีอิสราเอลพร้อมกับอิหร่านในครั้งนี้ เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับความสนับสนุนจากอิหร่าน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah)ในเลบานอน กลุ่มนี้เป็นองค์กรทางการเมือง สังคม และการทหารของมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงในประเทศเลบานอน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา อิสราเอลได้โจมตีทางอากาศหมู่บ้าน Kfar Kila ในเลบานอนซึ่งอยู่ติดกับชายแดนอิสราเอล เพื่อโต้ตอบที่ฝ่ายฮิซบอลเลาะห์ยิงโจมตีมาจากฝั่งชายแดนเลบานอน-อิสราเอล โดยทางฮิซบอลเลาะห์เองก็อ้างว่า โจมตีอิสราเอลเพื่อเป็นการตอบโต้การที่กองทัพอิสราเอลระดมโจมตีกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านเช่นกัน
ฮิซบอลเลาะห์ระบุว่า ในวันดังกล่าวพวกเขายิงจรวดออกไปสองลูก โดยพุ่งเป้าไปที่ฐานทัพของอิสราเอลในพื้นที่ยึดครองที่ราบสูงโกลัน
ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนนั้น เกิดขึ้นด้วยความช่วยเหลือของอิหร่าน ในช่วงที่อิสราเอลเข้ายึดครองเลบานอนเมื่อต้นทศวรรษ 1980 แต่รากฐานของอุดมการณ์ฮิซบอลเลาะห์สามารถสืบย้อนไปได้ไกลถึงยุคฟื้นฟูนิกายชีอะห์ในเลบานอนระหว่างช่วงทศวรรษ 1960-1970 และหลังอิสราเอลถอนกำลังทหารออกจากเลบานอนในปีค.ศ. 2000 ฮิซบอลเลาะห์ยังคงยืนกรานไม่ยอมวางอาวุธ แต่กลับเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรตนเองในสายทหาร ที่เรียกว่ากองกำลัง Islamic Resistance ต่อไป
สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า กองกำลังของฮิซบอลเลาะห์มีศักยภาพสูงกว่ากองทัพเลบานอนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอำนาจการยิงของอาวุธต่าง ๆ ที่ใช้ในสงครามกับอิสราเอลเมื่อปี 2006 นอกจากนี้ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยังค่อย ๆ ก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง โดยปัจจุบันได้กลายมาเป็นผู้มีอำนาจต่อรองคนสำคัญในเวทีการเมืองของเลบานอน ทั้งยังสามารถออกเสียงยับยั้งมติต่าง ๆ ในคณะรัฐมนตรีได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ฮิซบอลเลาะห์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางแผนบ่อนทำลาย รวมทั้งก่อวินาศกรรมต่อประเทศอิสราเอลและชาวยิวทั่วโลก โดยอยู่เบื้องหลังการวางระเบิดหลายต่อหลายครั้ง ทำให้บรรดาชาติตะวันตก รวมทั้งกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ สันนิบาตอาหรับ และอิสราเอล ต่างเรียกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ในสงครามระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังฮามาส ซึ่งมีศูนย์กลางปฏิบัติการอยู่ในฉนวนกาซา ฮิซบอลเลาะห์ได้ประกาศเข้าร่วมกับฮามาสด้วย เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
กลุ่มกบฏฮูตี เป็นกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิหร่าน ปัจจุบันสามารถยึดครองพื้นที่กว้างใหญ่ส่วนหนึ่งของเยเมนเอาไว้ใต้การปกครองของตนเอง รวมถึงฐานที่มั่นในกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน และเมืองฮูดายดาห์ ซึ่งเป็นเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลแดง
หลังสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 กลุ่มกบฏฮูตีประกาศให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสและชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา โดยกลุ่มฮูตีประกาศจะโจมตีเรือสินค้าทุกลำที่มุ่งหน้าไปยังอิสราเอล หรือเรือที่มุ่งหน้าไปยังท่าเรือของชาวปาเลสไตน์ เมื่อเดือน พ.ย.ของปีแล้ว กลุ่มกบฏฮูตีอ้างว่าได้ยึดเรือสินค้าของอิสราเอลไว้ลำหนึ่ง และหลังจากนั้นก็เริ่มใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดงหลายลำ โดยมีสถิติการโจมตีบ่อยถี่ขึ้น 500% ในเดือนพ.ย.และธ.ค. ของปีที่ผ่านมา
ภัยคุกคามดังกล่าวทำให้บริษัทขนส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่ ต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางเดินเรือผ่านทะเลแดง ซึ่งก็ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการประกันภัยพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 10 เท่า นับแต่ช่วงต้นเดือนธ.ค. เป็นต้นมา โดยบริษัทขนส่งสินค้าทางทะเลชั้นนำ เช่น Mediterranean Shipping Company, Maersk, Hapag-Lloyd รวมทั้งบริษัทผู้ค้าน้ำมัน BP ต่างก็ประกาศว่าจะเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ ทำให้หวั่นเกรงกันว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะพุ่งสูงขึ้นและห่วงโซ่อุปทานในการจัดส่งสินค้าจะได้รับความเสียหาย เนื่องจากการค้าทางทะเลเกือบ 15% ของโลก อาศัยเส้นทางเดินเรือผ่านทะเลแดง ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านคลองสุเอซ อันเป็นทางลัดที่สั้นที่สุดของการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย
เมื่อเร็วๆนี้ อิหร่านเองก็ยังประกาศจะปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นอีกช่องทางสำคัญในขนส่งน้ำมันจากประเทศในอ่าวอาหรับ และอยู่ใกล้กับทะเลแดง เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านที่ตั้งอยู่ในซีเรีย
กลุ่มกบฏฮูตีนั้น ประกาศว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของ “แกนนำต่อต้าน” (axis of resistance) ที่นำโดยรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งแกนนำนี้มุ่งสู้รบกับอิสราเอลและบรรดาชาติตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐ โดยมีกลุ่มฮามาสและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์
กลุ่มกบฏฮูตีมีการจัดตั้งกองกำลังและวางโครงสร้างองค์กรตามแบบอย่างของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะห์เหมือนกัน ซึ่งข้อมูลของสถาบันวิจัย “ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย” (CTC) ของสหรัฐ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้มอบความช่วยเหลือ ทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกฝนทักษะทางทหารให้กลุ่มกบฏฮูตีอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ กลุ่มฮูตีสามารถผลิตขีปนาวุธและโดรนของตัวเองเพื่อใช้ในการสู้รบ
กลุ่มกบฏฮูตีถือว่าอิหร่านเป็นพันธมิตรสำคัญ เพราะทั้งสองต่างมองว่าซาอุดีอาระเบียเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ทั้งคู่มีร่วมกัน ทำให้ทางการสหรัฐกล่าวหาว่า อิหร่านจัดส่งอาวุธให้กลุ่มกบฏฮูตี ทั้งยังใช้หน่วยข่าวกรองของอิหร่านเองสืบข่าว และชี้เป้าเรือสินค้าให้กลุ่มกบฏฮูตีเข้าโจมตีด้วย
ข้อมูลของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2010 ประมาณการว่ากลุ่มกบฏฮูตีมีสมาชิกร่วมขบวนการระหว่าง 100,000 – 120,000 คน โดยมีทั้งที่เป็นกำลังทหารและพลเรือนผู้ให้การสนับสนุนโดยไม่ติดอาวุธ ปัจจุบัน ประชากรชาวเยเมนส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในเขตปกครองของกลุ่มกบฏฮูตี ทั้งในกรุงซานาที่เป็นนครหลวงและในทางตอนเหนือของประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มกบฏยังยึดครองบริเวณชายฝั่งทะเลแดงเอาไว้ได้อีกด้วย โดยดำเนินการจัดเก็บภาษีและพิมพ์ธนบัตรใช้เองเหมือนกับรัฐบาลที่เป็นทางการ
อิหร่านมีขนาดใหญ่กว่าอิสราเอลหลายเท่า หากเทียบในทางภูมิศาสตร์ และมีประชากรเกือบ 90 ล้านคน ซึ่งมากกว่าอิสราเอลเกือบ 10 เท่า แต่สิ่งนี้ไม่ได้บ่งชี้อานุภาพทางทหาร
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า อิหร่านลงทุนในขีปนาวุธและโดรนอย่างมาก มีคลังแสงขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง และยังจัดหาอาวุธให้กับตัวแทนหรือพันธมิตร เช่น กลุ่มฮูตีในเยเมนและฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน แต่สิ่งที่อิหร่านไม่มี คือระบบป้องกันภัยทางอากาศอันทันสมัยและเครื่องบินขับไล่ แต่เชื่อกันว่ารัสเซียร่วมมือกับอิหร่านเพื่อพัฒนาสิ่งเหล่านั้น เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางทหารของเตหะรานที่มอบให้มอสโกในการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน โดยอิหร่านจัดหาโดรนโจมตีชาเฮดให้กับรัสเซีย และมีรายงานว่ารัสเซียเองก็พยายามตั้งโรงงานผลิตอาวุธของตัวเอง
ในทางตรงกันข้าม อิสราเอลมีกองทัพอากาศที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตามรายงานของ IISS ระบุว่าอิสราเอลมีเครื่องบินไอพ่นอย่างน้อย 14 ฝูง รวมถึง F-15, F-16 และเครื่องบินล่องหน F-35 รุ่นใหม่ล่าสุด นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีประสบการณ์การโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนที่ไม่เป็นมิตรมาก่อน
และหากจะพูดถึง ศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลถูกสันนิษฐานว่า มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง แต่ยังมีนโยบายแสดงเจตนาอันคลุมเครือ ขณะที่อิหร่านเอง ก็ปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ มีแต่โครงการนิวเคลียร์สำหรับพลเรือน ที่ไม่ได้คิดจะพัฒนามาเป็นอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด
กระนั้นก็ตาม เมื่อปี 2566 หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ระดับโลกพบอนุภาคยูเรเนียมที่มีค่าความบริสุทธิ์มากถึง 83.7% ซึ่งใกล้เคียงกับเกรดอาวุธอย่างมาก โดยพบมันในชั้นใต้ดินของโรงงานนิวเคลียร์ฟอร์โดว์ของอิหร่าน ทั้งนี้ อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้บริสุทธิ์มากกว่า 60% อย่างเปิดเผยมานแล้วกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 กับประเทศมหาอำนาจของโลก