กต.แถลงหนุนมติ UNSC เรียกร้องหยุดยิงในกาซา-ปล่อยตัวประกัน รวมทั้งคนไทย  

12 มิ.ย. 2567 | 01:24 น.

กระทรวงการต่างประเทศแถลงการณ์สนับสนุนข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่เรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซาอย่างสมบูรณ์และครบถ้วน "โดยทันที" รวมถึงการปล่อยตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้ง 6 คนไทย

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงการณ์วานนี้ (11 มิ.ย.) ต่อ ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่เกี่ยวข้องกับ ข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา มีเนื้อหาว่า

ประเทศไทยยินดีต่อข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2735 (2024) ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์และครบถ้วนโดยทันที ตลอดจนขอให้คู่กรณีปฏิบัติตามข้อเสนออย่างครบถ้วนโดยไม่ล่าช้าและปราศจากเงื่อนไข ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งตัวประกันคนไทยด้วย

ประเทศไทยเห็นว่า ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการหาทางออกอย่างสันติให้กับสถานการณ์ความขัดแย้ง และคาดหวังให้มีการปฏิบัติตามข้อมติอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

ประเทศไทยสนับสนุนการคงความพยายามของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุทางออกบนพื้นฐานของแนวทางสองรัฐที่รัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์อยู่เคียงข้างกันอย่างสันติและมั่นคง โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง

สงครามในกาซาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 36,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนชาวปาเลสไตน์รวมทั้งเด็กและสตรี (ภาพข่าวรอยเตอร์)

 

ทั้งนี้ เชื่อว่ามีคนไทย 6 คนยังคงเป็นตัวประกันของฮามาสอยู่ในฉนวนกาซา

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้อนุมัติมติรับรองแผนการหยุดยิงในสงครามอิสราเอล-ฮามาสเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ (10 มิ.ย.) ด้วยคะแนนสนับสนุนท่วมท้น มีเพียงรัสเซียที่งดออกเสียง โดยร่างมติดังกล่าวมีเนื้อหาสะท้อนข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ที่ให้อิสราเอลยอมรับข้อเสนอหยุดยิง พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธฮามาสยอมรับแผนงาน 3 ขั้นตอนที่ทางกลุ่มเคยมีท่าทีตอบรับก่อนหน้านี้ด้วย

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ฮามาสแสดงความยินดีต่อมติของ UNSC และระบุความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับตัวกลางการเจรจาโดยอ้อมกับอิสราเอลเพื่อดำเนินการตามรายละเอียดของแผนงานดังกล่าว

ข่าวระบุว่า มติล่าสุดของ UNSC ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกถึง 14 เสียงจากทั้งหมด 15 เสียง โดยมีเพียงรัสเซียที่ขอ “งดออกเสียง” โดยเนื้อหาของมตินี้เรียกร้องให้อิสราเอลและฮามาส “ดำเนินการตามเงื่อนไขของข้อเสนออย่างเต็มที่โดยไม่ล่าช้าและปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า คู่กรณีทั้งสองฝ่าย จะตกลงและดำเนินการตามแผนหยุดยิง 3 ขั้นหรือไม่ แต่โดยหลักการ มติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ถือเป็นแรงกดดันที่ทั้งคู่น่าจะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ทาง UNSC เคยรับรองมติที่ร้องขอให้เกิดการหยุดยิงเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมในกาซาในช่วงเดือนรอมฎอนมาแล้ว โดยในครั้งนั้น สหรัฐงดออกเสียง ขณะที่มติดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การหยุดยิงแต่อย่างใด