การเมืองสหรัฐฯแรงขึ้นแน่ หลังทรัมป์โดนลอบยิง ไทยต้องรักษาดุลยภาพ

18 ก.ค. 2567 | 12:09 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 12:10 น.

นักวิชาการเตือน การเมืองสหรัฐฯแรงขึ้นแน่ หลังโดนัล ทรัมป์โดนลอบยิง แนะประเทศไทยต้องรักษาดุลยภาพ อย่าพึ่งพาประเทศใดมากเกิน และอย่ามองโลกแง่ดีเกินไป

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นที่จับตามองยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อได้เกิดเหตุลอบยิง นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ขณะปราศรัยที่เมืองบัตเลอร์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านรายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจว่า เหตุลอบยิงทรัมป์ครั้งนี้ ไม่ใช่สาเหตุจากความแบ่งแยกรุนแรง แต่เป็นอาการของความรุนแรงที่เริ่มปรากฏออกมา และมีโอกาสจะปรากฏขึ้นอีก ซึ่งจุดไคลแมกซ์จะอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง

มีการคาดการณ์ล่วงหน้าประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา ผ่านบทความ “วิกฤตรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา” เขียนโดย Robert Kagan ซึ่งเผยแพร่ใน The New York Times ซึ่งมองว่า การเมืองสหรัฐฯ มีการแยกขั้วโดยกลุ่มขวาจัดที่สนับสนุนทรัมป์ เป็นกลุ่มที่มีลักษณะใช้ความรุนแรง ดูได้จากวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ทรัมป์เองก็มีลักษณะในการพูดจาที่มีความก้าวร้าว และท่าทีที่ไม่ยอมรับผลของการเลือกตั้งที่ตนเองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มาตลอดระยะเวลา 4ปีที่ผ่านมา

ในลักษณะเช่นนี้ทำให้ Robert Kagan วิเคราะห์ไปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ หากทรัมป์พ่ายแพ้อีกก็จะเกิดการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งขึ้นได้ ขณะที่ฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตก็อาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นได้เช่นกัน ดูจากผู้ที่เป็นมือปืนก่อเหตุในครั้งนี้ แม้จะลงทะเบียนว่า เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน แต่มีประวัติการบริจาคเงินสนับสนุนในกิจกรรมของพรรคเดโมแครต

สิ่งที่อันตรายในอนาคต คือผลของการเลือกตั้งหากทรัมป์ไม่ได้เป็นผู้ได้รับชัยชนะอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้จากกลุ่มผู้ที่สนับสนุนทรัมป์ และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันกับผู้สนับสนุนของอีกฝ่าย ฉะนั้นการแยกขั้วยังไม่จบ และยังมีโอกาสเกิดความรุนแรงได้อีก และนับวันจะรุนแรงมากขึ้น สถานการณ์ ณ ขณะนี้ถือว่ามีความแยกขั้วและรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามกาลางเมือง ในปี 1860 เป็นต้นมา

โซเชียลมีเดียเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นการแบ่งแยก สร้างความรุนแรงมากขึ้น โดยทำให้ผู้คนเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผล เช่นว่ามีการโกงการเลือกตั้ง เชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิด เป็นต้น ซึ่งยังไม่นับการเหยียดเรื่องชนชาติและสีผิว ของคนลาตินอเมริกา คนเอเชีย จากเดิมที่เคยมีเรื่องการเหยียดคนผิวดำ และมองว่าคนเหล่านี้เป็นคนละพวก มองว่าเข้ามาแย่งงานคนอเมริกัน 

แต่อย่างไรก็ตามเหตุลอบยิงทรัมป์ครั้งนี้ อาจทำให้สังคมชาวอเมริกันได้ฉุกคิดว่า ขณะนี้มีความรุนแรงมากเกินไปแล้วจนนำมาสู่การลดความรุนแรงลงได้ โดยอาจมีการแสดงออกผ่านการเลือกผู้นำที่ไม่สุดโต่ง

สำหรับประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของทรัมป์ อันดับแรกคือจะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% อันดับต่อมาต้องจับตาดูเศรษฐกิจสหรัฐฯภายใต้การนำของทรัมป์ว่าจะเป็นอย่างไร และการที่จีนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้ประเทศไทยสะเทือนไปด้วย เพราะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจของประเทศจีนทั้งด้านการส่งออก การท่องเที่ยว และไทยยังได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ผลิตมาล้นเกินและเมื่อถูกมาตรการเล่นงานโดยสหรัฐฯ สินค้าเหล่านั้นก็จะไหลไปกระทบทุกๆประเทศ

การเมืองสหรัฐฯแรงขึ้นแน่ หลังทรัมป์โดนลอบยิง ไทยต้องรักษาดุลยภาพ

ยิ่งไปกว่านั้นหากสหรัฐฯดำเนินนโยบายด้านการลงทุน ที่เลือกไปลงทุนเฉพาะประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ ประเทศไทยก็ต้องจับสัญญาณว่าสหรัฐฯมองเราเป็นมิตรด้วยหรือไม่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางบทบาทท่าทีให้เกิดความสมดุลย์ ไม่ดูเอนเอียงไปยังฝั่งจีน หรือสหรัฐฯมากจนเกินไป เพราะประเทศไทยไม่มีบริบทด้านอื่นที่สหรัฐฯต้องเกรงใจ แตกต่างจากประเทศเวียดนามที่สหรัฐฯมีความเกรงใจ เพราะอย่างไรแล้วเวียดนามก็ไม่อยู่ข้างจีน จึงมีเวียดนามไว้เพื่อถ่วงดุลย์ประเทศจีน

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือกับผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ข้อแรกต้องไม่มองโลกในแง่ดีมากจนเกินไป เพราะหากไม่เป็นไปตามนั้นจะเกิดปัญหา ในขณะที่หนี้สาธารณะประเทศไทยเกิน 60% ไปแล้วทำให้ต่างชาติจับตามอง และต้องห่วงเรื่อง GDP ที่ลดลง ส่งผลให้หนี้สาธารณะกลายเป็นเพิ่มขึ้น ไทยต้องไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป เพื่อรักษาดุลยภาพ โดยเฉพาะต้องระมัดระวังเรื่องทุนสีเทาที่มากระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาพลักษณ์ของประเทศ