การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในทำเนียบขาวทำให้เกิดความสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอาจต้องเผชิญกับมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐฯ เตรียมบังคับใช้เพื่อปรับสมดุลทางการค้า แผนการนี้อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการส่งออกและการลงทุนในภูมิภาค และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมา เวียดนามมักถูกมองว่าเป็นประเทศที่เปราะบางที่สุดต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เนื่องจากมีดุลการค้าเกินดุลกับอเมริกาสูงมาก อย่างไรก็ตาม รายงานของ Maybank ชี้ว่า การเก็บภาษีตอบโต้ของทรัมป์จะครอบคลุมไปถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย โดยพิจารณาจากปัจจัย 5 ด้าน ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VATs), อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers), อัตราภาษีที่ประเทศเหล่านี้เรียกเก็บจากสินค้าสหรัฐฯ, อัตราแลกเปลี่ยน และพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
จากการวิเคราะห์ของ Maybank อัตราภาษีตอบโต้ที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อาจเผชิญอยู่ที่ 16.2% และ 15.3% ตามลำดับ ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ด้วยอัตราภาษีอยู่ที่ 9.1% และ 9% ตามลำดับ
ส่วนกัมพูชาและไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากสหรัฐฯ ใช้อัตราภาษีตามอัตราภาษีถัวเฉลี่ยที่กำหนดให้กับสินค้าสหรัฐฯ โดยกัมพูชาอาจเผชิญอัตราภาษีสูงถึง 12.5% ส่วนไทยอยู่ที่ 6.2%
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก การที่สหรัฐฯ วางแผนเก็บภาษีเซมิคอนดักเตอร์สูงถึง 25% รวมถึงมาตรการควบคุมการส่งออกชิป AI อาจส่งผลต่ออาเซียนอย่างหนัก โดยมาเลเซียและสิงคโปร์ถือเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของภูมิภาค
ปัจจุบัน มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12% ของการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของประเทศ หากถูกเก็บภาษีสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและอาจทำให้บริษัทต่างๆ ต้องย้ายฐานการผลิต
ในขณะเดียวกัน การตอบโต้จากจีนก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจพลิกสถานการณ์ของอาเซียน เนื่องจากจีนเองก็กำลังเผชิญภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20% ทำให้อัตราภาษีโดยรวมที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีนสูงถึง 31.7% ซึ่งมากกว่าภาษีที่เรียกเก็บจากอาเซียน
สิ่งนี้อาจเปิดโอกาสให้สินค้าจากอาเซียนเข้ามาแทนที่สินค้าอเมริกันในตลาดจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ไก่ ข้าวโพด หมู เนื้อวัว และอาหารทะเล ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่จีนเพิ่งขึ้นภาษีตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนครั้งแรก (2016-2019) การนำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากเวียดนามและไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว หากจีนใช้มาตรการเดียวกัน อาเซียนอาจได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น
ไม่ใช่เพียงแค่ภาษีตอบโต้เท่านั้นที่สร้างแรงกดดันต่ออาเซียน นักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองหาแนวทางใหม่ในการลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และจีน บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเริ่มปรับกลยุทธ์โดยใช้แนวคิด "America Plus One" ซึ่งหมายถึงการมองหาทางเลือกใหม่ในการลงทุนที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอเมริกาหรือจีนเพียงฝ่ายเดียว
ในปีที่ผ่านมา โลกได้เห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนจำนวนมากจากจีนมายังอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากสหรัฐฯ และจีนยังเดินหน้าใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อกันต่อไป โอกาสของอาเซียนอาจเป็นเพียงชัยชนะชั่วคราว
สงครามการค้าระลอกใหม่กำลังทำให้ภูมิภาคอาเซียนต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียกำลังเผชิญความท้าทายจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ในขณะที่จีนก็พยายามดึงอาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าใหม่เพื่อทดแทนสินค้าสหรัฐฯ
อ้างอิง: Business Times, Reuters, Fulcrum, The Diplomat, Eria