ในขณะที่โลกกำลังให้ความสนใจต่อแนวคิด “มีสติ” (Mindfulness) อย่างแพร่หลายในแวดวงสุขภาพและไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สปา หรือคลาสต่าง ๆ ประเทศภูฏานกลับยกระดับแนวคิดนี้ไปอีกขั้น ด้วยการสร้าง “เมืองแห่งสติ” (Mindfulness City) ขึ้นทั้งเมืองที่ชื่อว่า เกเลฟู (Gelephu) ทางตอนใต้ของประเทศ ใกล้พรมแดนอินเดีย
เมือง เกเลฟู (Gelephu) ทางตอนใต้ของภูฏาน ใกล้พรมแดนกับประเทศอินเดีย ได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของเมืองแห่งนี้ แม้ว่าในช่วงแรกจะมีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ค่อนข้างน้อย
เครดิตภาพ : Bjarke Ingels Group
ล่าสุด บริษัทสถาปนิก Bjarke Ingels Group ได้เปิดเผยแบบจำลองของสนามบินเกเลฟู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และถือเป็นข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับเมืองแห่งสติที่มีการเปิดเผยออกมาจนถึงตอนนี้
แม้ในวันที่ไม่มีปัญหาอะไร สนามบินก็มักเป็นสถานที่ที่สร้างความเครียด ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้า สัมภาระสูญหาย ต่อเครื่องไม่ทัน หรือแถวยาวเหยียด แล้วสนามบินจะสะท้อนแนวคิดแบบ "มีสติ" ได้อย่างไร
Bjarke Ingels Group ให้คำตอบว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการออกแบบที่เน้นใช้ธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วม และสอดคล้องกับแนวคิดหลักของภูฏานที่เน้น ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) ซึ่งใช้ความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเกณฑ์ในการวัดคุณภาพชีวิต
สนามบินคือความประทับใจแรกและสุดท้ายของสถานที่ที่เราเดินทางไปเยือน
สถาปัตยกรรมของสนามบินนี้ประกอบขึ้นจากโครงไม้ลามิเนตแบบโมดูลาร์ ซึ่งให้ความยืดหยุ่นและสามารถขยายได้ รูปทรงจากระยะไกลคล้ายแนวเทือกเขา โครงไม้ทั้งหมดจะถูกแกะสลักและลงสีตามงานฝีมือแบบดั้งเดิม และประดับด้วยมังกรสามประเภท ซึ่งเป็นตัวแทนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของภูฏาน ผลลัพธ์ที่ได้คือผลงานที่ผสานความดั้งเดิมเข้ากับความล้ำสมัย มุ่งสู่อนาคตแต่ยังคงยึดรากเหง้าไว้
เครดิตภาพ : Bjarke Ingels Group
นอกจากนี้ BIG ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อย่างมากในการออกแบบสนามบิน โดยคำนึงถึงสถานะของภูฏานในฐานะประเทศที่มีปริมาณคาร์บอนสุทธิติดลบ (carbon-negative) จึงได้นำ แนวทางการก่อสร้างอย่างยั่งยืน มาใช้ เช่น การติดตั้ง แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา, การใช้หลักการ ออกแบบตอบสนองสภาพอากาศแบบพาสซีฟ (passive climate-responsive design) และการใช้ชายคาที่ยื่นยาวเพื่อช่วยให้ร่มเงาและกันฝน
โครงสร้างไม้ยังช่วย ควบคุมความชื้นตามธรรมชาติ, ขณะที่ลานภายใน (courtyard) และหลังคาระบายอากาศ (ventilated roofs) ก็ช่วยส่งเสริมการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภายในอาคารผู้โดยสารได้รับการออกแบบเพื่อ ยกระดับประสบการณ์ของผู้โดยสาร ด้วยระบบนำทางที่ชัดเจน การเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ และแสงธรรมชาติที่ส่องถึงทั่วพื้นที่
โดยเฉพาะบริเวณกลางอาคารที่เรียกว่า “Forest Spine” ซึ่งเป็นลานกลางขนาดใหญ่ที่นำความหลากหลายทางชีวภาพของภูฏานเข้ามาอยู่ในสนามบิน ผ่านพื้นที่สีเขียว พืชพื้นถิ่น และทางเดินลอยฟ้าบนยอดไม้ (treetop walkway) ที่ช่วยให้ผู้โดยสารรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมี เลานจ์ทั้งในร่มและกลางแจ้ง สำหรับการพักผ่อน ทำสมาธิ และกิจกรรมเพื่อสุขภาวะ
เครดิตภาพ : Bjarke Ingels Group
สนามบินเกเลฟูยังถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายในประเทศแห่งแรกของภูฏาน โดยจะรวมบริการขนส่งสาธารณะไว้ในที่เดียว ทั้งรถรางไร้ราง (trackless trams) และรถโดยสาร เพื่อเชื่อมต่อกับศูนย์กลางเมืองเกเลฟูที่ได้รับการพัฒนาใหม่ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ
สนามบินนานาชาติเกเลฟูคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2029 และจะกลายเป็น ประตูสู่ภูฏาน ที่ผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานแนวคิดใหม่อย่างลงตัว
เครดิตภาพ : Bjarke Ingels Group
สนามบินนานาชาติเกเลฟู จะมีพื้นที่ทั้งหมด 731,946 ตารางฟุต รองรับเที่ยวบินได้ 123 เที่ยวต่อวัน และมีขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารสูงสุด 1.3 ล้านคนต่อปี
แม้ตัวเลขนี้จะยังเล็กมากเมื่อเทียบกับสนามบินขนาดใหญ่ เช่น ลอนดอน ฮีทโธรว์ หรือ เจเอฟเค นิวยอร์ก แต่ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยในปี 2019 ภูฏานมีนักท่องเที่ยวเพียง 316,000 คนเท่านั้น
ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเดินทางเข้าประเทศผ่าน สนามบินนานาชาติพาโร (PBH) ใกล้เมืองหลวงทิมพู ตั้งอยู่ระหว่างยอดเขาสูงของเทือกเขาหิมาลัย ทำให้การบินมีความท้าทาย โดยเฉพาะช่วงฤดูมรสุมที่มีลมแรง อีกทั้งสนามบินยังไม่มีไฟรันเวย์ ทำให้มีเพียงเครื่องบินขนาดเล็กไม่กี่ลำจากเมืองต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น นิวเดลี และกรุงเทพฯ ที่สามารถบินเข้าออกได้ในแต่ละวัน
เกเลฟูในปัจจุบันมีสนามบินภายในประเทศขนาดเล็กอยู่แล้ว แต่ถูกเลือกให้เป็นสถานที่สร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ เนื่องจากพื้นที่ราบที่เหมาะสม ทำให้สามารถสร้างรันเวย์ยาวเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้
นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของเกเลฟูใกล้กับอินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการทูตและคู่ค้าหลักของภูฏาน ยังถือเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับโครงข่ายรถไฟและถนนในอนาคต
พระมหากษัตริย์ จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ของภูฏาน ทรงเป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังโครงการเมืองแห่งสติเกเลฟูนี้
สนามบินแห่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของ Gelephu Mindfulness City ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจ และยังถือเป็นเส้นเลือดสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเช่นภูฏาน
ภูฏาน ซึ่งมีประชากรราว 750,000 คน เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวคิด การท่องเที่ยวมูลค่าสูง ผลกระทบต่ำ (high value, low impact tourism) โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายวันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนระบบสาธารณสุข การศึกษา และบริการสาธารณะอื่น ๆ ของภูฏาน