รัฐบาลกางแผน เติมเงินใหม่เข้าระบบแสนล้าน ประคองเศรษฐกิจไทย

23 มี.ค. 2567 | 01:24 น.

สัมภาษณ์พิเศษ “ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช็อตต่อไปกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” พร้อมกางแผนเติมเงินก้อนใหม่หลายแสนล้านบาท ที่จะเข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจไทย

KEY

POINTS

  • เปิดแหล่งเงินก้อนใหม่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เตรียมระดมจาก 4 แหล่งใหญ่ หวังเป็นหัวเชื้อจุดเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยติด รองรับความเสี่ยงที่กำลังตามมาสารพัดเรื่อง
  • โฆษกรัฐบาล ยอมรับ 4 เรื่องหลัก ๆ หากทำสำเร็จจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะตัวเลข GDP ตลอดระยะเวลา 4 ปี ของการบริหารประเทศขยายตัวได้เฉลี่ย 5% 
  • รัฐบาล พร้อมออกชุดมาตรการใหม่ เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะความเดือดร้อนจากเงินรายได้ของประชาชนที่ไม่เพียงพอ
     

ผ่านพ้นช่วงเวลา “ฮันนีมูน” 6 เดือนไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เพราะช่วงเวลานับจากนี้ไป หลากหลายความท้าทายกำลังจะกลายเป็น “ของจริง” วัดฝีมือรัฐบาล “นายกฯนิด” และองคาพยพ ว่าจะขับเคลื่อนสารพัดนโยบายตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะวาระเร่งด่วนอย่างการแก้ปัญหาปากท้อง และการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้อยู่รอดบนโลกแห่งความเสี่ยงนานับประการ

“ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เวลาสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” นาน 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อเล่าให้ฟังถึงแผนงานของรัฐบาลนับจากนี้ว่า นโยบายมากมายที่รัฐบาลเคยประกาศเอาไว้ต่อรัฐสภา จะสามารถผลักดันออกมาสำเร็จได้หรือไม่

โฆษกรัฐบาล ฉายภาพก่อนว่า โจทย์ของรัฐบาลก่อนเข้ามาบริหารประเทศ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึมต่อเนื่องมายาวนาน 8-9 ปี ขณะที่ GDP โตเฉลี่ยไม่เกิน 2% ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้เศรษฐกิจระดับฐานราก หรือชาวบ้านผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบหนัก เมื่อตีโจทย์ได้แล้ว

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา โดยเริ่มต้นทำมาแล้ว และจะทำอย่างเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการสร้างรายได้ใหม่ ด้วยการสร้างเงินก้อนใหม่สูบฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ

 

“ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เวลาสัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”

โจทย์ท้าทาย “รัฐบาลเศรษฐา” คือต้องพาเศรษฐกิจไทยตลอดระยะเวลา 4 ปี ขยายตัวให้ได้เฉลี่ย 5% เพราะถ้า GDP ไม่ถึงเป้าหมาย นั่นหมายความว่า ชาวบ้านในฐานล่างของพีระมิดจะเดือดร้อน เพราะรายได้ไม่พอต่อรายจ่าย รัฐบาลจึงต้องหาทางหารายได้ใหม่ ด้วยการออกชุดนโยบายและการสร้างโอกาสให้กระจายถึงทุกคน ดังนี้

1.เงินใหม่จากนโยบายดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก

รัฐบาลกำลังหาทางดึงดูดเงินลงทุน จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) หลังจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ กว่า 15 ประเทศ เพื่อเชิญชวนนักลงทุน-นักธุรกิจ ต่างชาติเข้ามาลงทุน หลังจากประเทศไทยถอดปลั๊กออกจากแผนที่โลกมานานหลายปี โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็นเทรนด์ของโลก ทั้ง ยานยนต์ไฟฟ้า EV AI หรือ Data Center รวมทั้งการเร่งลงทุนด้านพลังงานสะอาด

โฆษกรัฐบาล ยกตัวอย่างความสำคัญของการลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต โดยเฉพาะพลังงานสะอาด เนื่องจากโลกยุคใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ธุรกิจต่าง ๆ จึงสนใจที่จะลงทุน ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศเหล่านั้นจะต้องมีพลังงานสะอาดไว้รองรับ ดงันั้นประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานสีเขียวมาก เพื่อสร้างเสน่ห์พอที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหญ่ ๆ เข้ามาลงทุน

ทั้งนี้ที่ผ่านมา 6 เดือน เห็นความชัดเจนแล้วว่านักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมเฉพาะที่เป็น FDI จำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้น 38% มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% และในปี 2567 จะขยายตัวมากขึ้นอีก หลังนายกฯ เดินสายไปดึงดูดการลงทุนมาแล้วหลายประเทศ

 

“ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เวลาสัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”

2.เงินจากการท่องเที่ยว

ถือเป็นเงินที่สามารถสร้างได้ทันที ที่ผ่านมารัฐบาลใช้นโยบายฟรีวีซ่ากับประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว โดยมีตลาดจีน และอินเดีย เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยเป็นการขยายจากเดิมที่รัฐบาลมีฟรีวีซ่าให้ประเทศต่าง ๆ แล้วกว่า 56 ประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นยุโรป ไม่ได้มีประเทศ “ลูกค้า” ใหญ่ ๆ อย่างจีนและอินเดีย รัฐบาลจึงปลดล็อควีซ่าให้กับประเทศเหล่านี้ทันทีเพื่อดึงเงินก้อนใหม่เข้าประเทศ 

นอกจากปลดล็อกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวตลาดหลักแล้ว นายกฯ ยังได้ประกาศแผนการพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยว และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาค

โฆษกรัฐบาล ยอมรับว่า ผลของการทำงานด้านการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ในปี 2566 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มีแค่ 11 ล้านคนเท่านั้น ส่วนในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 มียอดนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 6 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านคน นั่นจึงทำให้ทั้งปีน่าจะได้ 36 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8 ล้านคน

“นักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป ดังนั้นหากคิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยงเบื้องต้น จะเพิ่มจากปีก่อนประมาณ 4 แสนล้านบาท ถ้าตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 36 ล้านคน ซึ่งลึก ๆ รัฐบาลก็เชื่อว่าน่าจะไปถึง 40 ล้านคนได้ แต่ตอนนี้ตั้งไว้ที่ 36 ล้านคนก่อน” 

 

รัฐบาลกางแผน เติมเงินใหม่เข้าระบบแสนล้าน ประคองเศรษฐกิจไทย

 

3.เงินจากผลผลิตทางการเกษตร

ปัจจุบันราคาพืชผลทางการเกษตร เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น ราคายางพาราสูงที่สุดในรอบ 7 ปีที่ผ่าน โดยราคายางแผ่นดิบปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แม้ว่าในสังคมโซเชียลจะบอกว่า เหตุที่ราคาขึ้นเกิดจากฤดูยางผลัดใบ ประเด็นนี้ โฆษกรัฐบาล มองต่าง เพราะเห็นว่า อยากให้ดูความเป็นจริง โดยขอให้ย้อนไปดูราคายางพาราในช่วงนี้ย้อนหลังหลาย ๆ ปี ว่าฤดูยางผลัดใบมีปีไหนที่ราคาสูงกว่านี้บ้าง

“เหตุผลที่ยางราคาสูงขึ้น เพราะที่ผ่านมามียางเถื่อนจากต่างประเทศทะลักเข้ามากดราคาในประเทศ แม้จะมีจำนวนไม่มากแต่ก็กดราคาให้ลงมามาก เมื่อแก้ไขยางเถื่อนได้แล้วราคาก็พุ่งสูงขึ้น และต่อจากนี้เมื่อยางออกมาราคาก็ไม่น่าจะลงมาก เฉลี่ยอยู่ที่กก.ละ 70 บาท หากคำนวณแล้วจะมีราคาดีกว่าเดิมเฉลี่ย กก.ละ 15 บาท แต่ละปีประเทศไทยผลิตยางพาราได้ 5 ล้านตัน รายได้ใหม่จากยางจะเพิ่มอย่างน้อย 7.5 หมื่นล้านบาท”

ส่วนราคาข้าวนั้น ที่ผ่านมาก็มีราคาดีขึ้นตามราคาในตลาดโลก โดยราคาข้าวเปลือกเจ้า ราคาสูงถึง 11,000-12,000 บาทต่อตัน สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์หลังมีความต้องการข้าวจากต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าปริมาณ 2 ล้านตัน

โฆษกรัฐบาล ประเมินว่า โดยเฉลี่ยแล้วข้าวมีราคาดีขึ้นประมาณ 2,000 บาทต่อตัน หากคำนวณผลผลิตข้าวต่อปี 35 ล้านตันข้าวเปลือก จะมีรายได้เพิ่มจากข้าวเปลือก 7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ราคาอ้อย ที่ผ่านมารัฐบาลเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,420 บาทต่อตัน ขึ้นมาจากฤดูกาลก่อนประมาณ 340 บาทต่อตัน เมื่อคำนวณผลผลิตอ้อยต่อปีที่ 110 ล้านตัน จะมีรายได้จากอ้อยที่เพิ่มมา 4 หมื่นล้านบาท

นายชัย บอกต่อว่า รัฐบาลยังเตรียมออกนโยบายด้านการเกษตร โดยเน้นการเพิ่มผลิตภาพทางด้านการผลิตให้มากขึ้น เช่น การปรับปรับคุณภาพดินทั่วประเทศ โดยให้มีค่า PH ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เพื่อเพิ่มผลผลิต หรือการปรับสูตรปุ๋ยใหม่ให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด โดยจะเร่งขึ้นทะเบียนสูตรปุ๋ยใหม่ให้เร็วขึ้น และการสร้างพื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรเพิ่มเติมอีก 15 ล้านไร่ และการส่งเสริมปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น ข้าวโพด และถั่วเหลืองแทนการปลูกข้าว

 

“ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เวลาสัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”

 

4.ปลดเปลื้องภาระหนี้สิน

โฆษกรัฐบาล ออกตัวก่อนว่า เรื่องนี้ “ไม่ง่าย” เพราะเป็นการแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศที่มีมานาน โดยหาทางไม่ให้เกิดการดูดซับเงินของชาวบ้านออกไปจากกระเป๋า ทำให้กำลังซื้อหดหายไป โดยปัจจุบันหนี้สินทั้งระบบมีอยู่ถึง 16 ล้านล้านบาท และการแก้ปัญหาหนี้สิน ณ ตอนนี้ถือเป็นการแก้ไขอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด เช่น การแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย แม้ว่าจะถูกเย้ยหยันว่าแก้ได้แค่หลักแสนคน แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ไม่เคยทำมาก่อนเลย

ส่วนหนี้ในระบบสถาบันการเงิน เช่น หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งได้รับการแก้ไขให้ตัดเงินต้นก่อนแทนตัดค่าปรับและดอกเบี้ย พร้อมลดค่าปรับผิดนัดชำระหนี้ ก่อนคำนวณเงินที่จ่ายไปแล้วย้อนหลัง จนทำให้หลายคนได้รับการปลดหนี้ไปได้ 

ขณะที่หนี้ข้าราชการ ก็ปรับให้มีเงินเหลือในบัญชีแต่ละเดือนให้ไม่น้อยกว่า 30% คิดเป็นเงินกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อให้มีกำลังซื้อกลับคืนมา พร้อมทั้งปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์เหลือ 4.75% และออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในอัตราเท่ากับเงินปันผลที่จะได้รับเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ก้อนเก่าลง และปรับโครงสร้างการผ่อนชำระให้สอดคล้องกับรายได้ 

“หากทำได้จะช่วยให้ลูกหนี้หายใจได้คล่องมากขึ้นกว่าเดิมที่เมื่อเงินเดือนออกแล้วต้องควักเงินไปจ่ายหนี้ จ่ายดอกเบี้ย จ่ายค่าปรับจนหมดกระเป๋า โดยถ้าคิดจากยอดหนี้ 16 ล้านล้านบาท หากแก้ได้สัก 1% จะแก้ได้ 1.6 แสนล้านบาท หรือแก้ได้ 2-3% ก็หลายแสนล้านบาท และยังช่วยให้คนปลดหนี้เป็นล้านคน”

 

“ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เวลาสัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”

 

โฆษกรัฐบาล ยอมรับว่า ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังจะเล่น และจะเดินหน้าทำให้สำเร็จ โดยการเติมเงินใหม่เข้าไปในระบบจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างน้อยก็ดีกว่าที่เป็นอยู่ และต้องขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยลงมา เพื่อช่วยให้ชาวบ้านและรัฐบาลไม่มีภาระทางการเงินที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งชุดมาตรการนี้ จะออกมาควบคู่กับการผลักดันนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะตามออกมาในไม่ช้านี้ 

“หากชุดมาตรการทั้งหมดออกมาได้ในคราวเดียวกันทั้งการสร้างแหล่งเงินใหม่จากทั้ง 4 เรื่องหลัก ๆ ผสมผสานกับการลดดอกบี้ยนโยบายลงมาให้พอฟื้นตัวได้ และการออกเงินดิจิทัลออกมาให้คนมีกำลังจับจ่าย จะเป็นการจุดเศรษฐกิจให้ติดขึ้นมาได้ นี่ยังไม่รวมการปลดล็อกกฎระเบียบกฎหมายที่เป้นอุปสรรคต่อการลงทุน ซึ่งหากทำได้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้อีกมาก และความหวังจีดีพี เฉลี่ย 5% ในช่วงที่รัฐบาลบริหารก็คงเป็นเรื่องไม่ยากแน่นอน” โฆษกรัฐบาล กล่าวทิ้งท้าย

 

“ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี