ปฏิกิริยา : ป่วย-ตายจากฝุ่นพิษ เรียกค่าเสียหายจากรัฐได้มั้ย

22 ม.ค. 2562 | 06:32 น.
ป่วย-01 165667 ปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพฯกำลังเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ปัจจุบันประชาชนให้ความสำคัญโดยหันมาดูแลสุขภาพด้วยวิธีการหาหน้ากากมาสวมใส่เพื่อป้องกันปัญหานี้ ในเมื่อทุกฝ่ายประโคมข่าวกันครึกโครมว่าเจ้าวายร้าย “ฝุ่นพิษ” จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ตายผ่อนส่งจากสารพัดโรค

ประชาชนเลยอยู่กันไม่เป็นสุข

บอกตรงๆ ผมทุกข์ใจและไม่สบายใจเลย หากเกิดมีผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากกรณีของฝุ่นพิษตามที่องค์การอนามัยโลกได้มีการคาดคะเนว่าประเทศไทยอาจมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาฝุ่นพิษจำนวนสูงถึง 50,000 คน

แม้ตัวเลขทั้งหมดจะเป็นแค่การคาดคะเน “ใกล้จริง” แต่สถานการณ์จริงขณะนี้ที่เห็น คือฝุ่นพิษในหลายเมืองใหญ่เกิดค่ามาตรฐานไปแล้ว จะเป็นจะตายวันไหน ไม่มีใครรู้

เราจะทำกันยังไง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ขอถามดังๆว่า ใครหรือหน่วยงานใดควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว?
165684 ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกคน คงอยากรู้เช่นเดียวกันว่า เราจะเรียกร้องความเสียหายจากหน่วยใดได้บ้าง ตามไปดูกันครับ

แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ คงต้องมาดูกันว่าปัจจุบันปัญหาฝุ่นพิษเกิดขึ้นจากอะไร และตามกฎหมายใครมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการกับปัญหาของฝุ่นพิษประเภทนั้นๆ

จากการตรวจสอบเมื่อปี 2560 พบว่าประมาณ 30% ของปัญหาฝุ่นพิษมาจากการปล่อยไอเสียจากรถ 40% มาจากการเผาชีวมวลอีก 30% ที่เหลือมาจากเรื่องอื่นๆ

[caption id="attachment_377829" align="aligncenter" width="500"] ปฏิกิริยา : ป่วย-ตายจากฝุ่นพิษ เรียกค่าเสียหายจากรัฐได้มั้ย เพิ่มเพื่อน [/caption]

ปัญหาฝุ่นพิษจึงถือว่าเป็นมลพิษทางอากาศเพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์

แล้วกฎหมายฉบับหลักที่ดูแลปัญหาเรื่องนี้มีอะไรบ้าง คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหานี้คือ “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ที่กฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้หลายอย่างเพื่อให้ดูแลปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทุกเรื่องรวมทั้งปัญหาฝุ่นพิษด้วย

นอกจากนี้ตามมาตรา55 คณะกรรมการชุดนี้ยังมีอำนาจในการให้คำแนะนำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการออกประกาศต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ดูเหมือนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะเป็นตัวละครหลักที่ต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้
165668 แต่เราคงต้องไม่ลืมว่าปัญหาเรื่องฝุ่นพิษมีที่มาจากหลายเหตุ และอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ รถยนต์ พ.ศ.2522 ,พ.ร.บ .จราจรทางบก พ.ศ.2522 ,พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ,พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 ,พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นต้น

ซึ่งแน่นอนว่าตามพ.ร.บ. ต่างๆ ที่กล่าวมาล้วนมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษ หากละเลยไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ความรับผิดชอบย่อมต้องตกกับผู้ที่มีหน้าที่นั้นๆ หรือที่เราคุ้นกับคำว่า “เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นั่นเอง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถพิสูจน์ว่าผลกระทบที่ประชาชนได้รับนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของใครโดยตรง

พูดตรงๆชัดๆปัญหาอย่างหนึ่งในการหาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ คือกฎหมายไทยในปัจจุบันกำหนดให้หลายหน่วยงานมีอำนาจที่ซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นการจะพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากฝุ่นพิษ เป็นฝุ่นที่มาจากแหล่งกำเนิดใด เห็นได้ชัดจากกรณีฝุ่นจากท่อไอเสียรถยนต์ที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลควมคุมของทั้งกรมการขนส่งทางบกและตำรวจจราจร เป็นต้น

ประกอบกับ ตัวกฎหมายอย่างพ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมเองก็มีช่องโหว่อยู่หลายประการ เช่น แม้เจ้าพนักงานจะได้มีการตักเตือนโรงงานที่ไม่ยอมติดตั้งระบบควบคุมหรือการกำจัดมลพิษแล้วโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๘ แต่ปรากฏว่าเจ้าของโรงงานละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษกับเจ้าของโรงงานไว้แต่อย่างใด
165671 นอกจากนี้ในอีกหลายกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทกฎหมายก็มีการกำหนดบทลงโทษต่อผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษไว้น้อยมาก ทั้งที่เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับทุกคนในชุมชน

เมื่อกฎหมายยังมีความซ้ำซ้อนซึ่งส่งผลทำให้การดำเนินการแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้อย่างเป็นเอกภาพ และยังอาจส่งผลทำให้ไม่สามารถหาผู้ที่มารับผิดชอบได้อย่างชัดเจน
แล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าภาครัฐจะควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องปรับแก้กฎหมายดังกล่าวโดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การที่มีหน่วยงานเต็มไปหมดที่มีอำนาจควบคุมดูแลเรื่องนี้ แต่กลับป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ก็ถือว่าไร้ประโยชน์

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติควรต้องลุกมาเป็นหัวเรือใหญ่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

สิ่งสำคัญรัฐควรต้องเตรียมหาช่องทางเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นพิษที่เกิดจากปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน ทั้งจากตัวกฎหมายที่มีความไม่เหมาะสมรวมถึงความล้มเหลวของหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ตามกฎหมาย

อย่างน้อยที่สุดประชาชนไม่ควรจะเป็นผู้แบกรับภาระในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวที่มาจากการดำเนินการของหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด

คอลัมน์ : ปฏิกิริยา
โดย : ชิษณุชา เรืองศิริ
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 

595959859