สุริยะ”ย้ำไทยยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง

05 ส.ค. 2562 | 07:50 น.

รมว. อุตสาหกรรม ตอกย้ำโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุดหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของการที่ประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ในระดับที่ดีขึ้น และการมีโครงสร้างเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

สุริยะ”ย้ำไทยยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง

                นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยในสัมมนาประจำปี บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2019 ในหัวข้อ“Roadmap to Success: Up Close with Thailand’s New Ministers”จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ว่า จากสถานการณ์การค้าโลกปัจจุบันที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน ได้ส่งผลกระทบให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง เห็นได้จาก GDP ของประเทศจีนที่อยู่ในระดับ 4.5-4.6 ซึ่งตกต่ำที่สุดในรอบ 28ปี เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่อยู่ที่ระดับ 1.1 ก็ตกต่ำเช่นเดียวกัน ขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตชะลอตัวลง

                ทั้งนี้  แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศในมุมบวก ประเทศไทยยังมีโอกาสก้าวไปสู่การเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ โดยการหาประโยชน์จากการที่ 2 ประเทศที่กำลังมีการแข่งขันกันสูง ซึ่งแน่นอนว่าจะมีเรื่องของกำแพงภาษีมาเกี่ยวข้อง ตรงนี้จะเป็นโอกาสของประเทศไทย ในการชักชวนนักธุรกิจจากทั้งสองประเทศให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยในช่วง 2เดือนนี้

“ตนจะเดินทางไปยังประเทศเป้าหมายเพื่อชักชวนนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยหลักๆที่จะใช้ในการดึงดูดนักลงทุน ก็คงไม่พ้นที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางสภาพทางภูมิศาสตร์ ที่เราอยู่ตรงศูนย์กลางของภูมิภาคเป็นจุดศูนย์กลางอาเซียนและเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านโลจิสติกส์ เป็นประตูเชื่อมต่อไปยังประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และเวียดนาม

สุริยะ”ย้ำไทยยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง

นอกจากนี้  ไทยยังมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะเป็นเสมือนหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้ดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนรอบด้าน

นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) จะมีการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ให้เติบโตและเข้มแข็ง ด้วยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ผลิตภาพอุตสาหกรรม และนวัตกรรม มุ่งสู่เศรษฐกิจที่ตอบโจทย์วิถีไทย คือ ต้องสอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของไทยและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มจากการพัฒนาในระดับต้นน้ำ คือ ภาคเกษตรเชื่อมโยงภาคการเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปช่วยให้เกิด Smart Farming เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น ที่สำคัญคือการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน ผ่านมาตรการทางการเงินใหม่ๆ ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank)เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย หรือ คนตัวเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้