ให้เงินทำงานผ่าน‘กอช.’ ออม 10 ปี ได้บำนาญ 3,000 บาท/เดือน

01 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
ปัจจุบันโครงสร้างประชากรไทยมีผู้สูงอายุที่เกิน 60 ปี ในสัดส่วนถึง 14% ของประชากร และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 21.2% ในปี 2568, และ 25.2% ในปี 2573 ซึ่ง 1 ในกองทุนหลักประกันที่พอจะเป็นความหวังโดยเฉพาะกับแรงงานนอกระบบในยามชรา ก็คือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2558

ผ่านมา 7 เดือน สถานะของกอช.วันนี้ รวมถึงประเด็นการตั้งเป้าหมายเพิ่มสมาชิกของกอช.แต่ละปี จะครอบคลุมแรงงานที่อยู่นอกระบบที่มีกว่า 25 ล้านคน และสอดคล้องทันการกับการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วหรือไม่อย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ นายสมพร จิตเป็นธมเลขาธิการกอช. มีคำตอบดังนี้

เป้าการเพิ่มสมาชิกของกอช.

เลขาธิการ กอช.กล่าวยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องน่ากังวลใจ แต่การตั้งเป้าหมายเพิ่มฐานสมาชิกของกอช.ในแต่ละปี ก็มาจากข้อศึกษาเดิมที่ว่า แรงงานที่อยู่นอกระบบ 25 ล้านคน จำนวนนี้เป็นผู้หาเช้ากินค่ำเป็นจำนวนมาก จึงไม่ง่ายที่จะให้กลุ่มนี้ออม เลยตัดไปครึ่งหนึ่งก็เหลือประมาณ 12.5 ล้านคน กอช.จึงขอเพิ่มเฉลี่ยที่ปีละ 10% จากฐาน 12 ล้านคน หรือที่ตัวเลขกว่า 1 ล้านคน ซึ่งคาดว่าปี 2559 นี้ จะขยายฐานได้ถึง 1.5 ล้านคน จากจำนวนสมาชิกขณะนี้ที่กว่า 4 แสน

"เดิมกอช.ตั้งเป้าจะเพิ่มสมาชิกปีละ 1 ล้านคน แต่เนื่องจากต้องใช้งบจำนวนมาก ในการพบปะ –สื่อสาร และงบประมาณที่ได้มาก็อาจไม่พอ โดยในปีงบ 2560 คาดจะได้งบประมาณเฉพาะสมทบอย่างเดียวที่ 2 พันล้านบาท จึงคิดว่าปี 2559 จะเพิ่ม 1.5 ล้านคน แต่ปี 2560 หรือปีต่อไปอาจเพิ่มเพียงปีละ 5 แสนคน

 แรงจูงใจเช่นเงินสมทบต่ำไปไหม

ที่ผ่านมาก็มีเสียงเรียกร้องว่า จากสมาชิกที่เราได้พบปะมา บางคนบอกว่าเงินสมทบที่รัฐให้สูงสุดในขณะนี้ที่ 1.2 พันบาทต่อปียังต่ำไป เพราะเอกสารแนบท้ายพรบ. ฯเงินสูงสุดที่รัฐสมทบให้ต่อปีจะอยู่ที่ 6 พันบาท ( ช่วงอายุ 15-30 ปี รัฐสมทบให้สูงสุดที่ 50% หรือเป็นวงเงินสมทบสูงสุดต่อปีตามพ.ร.บ.กำหนดที่ 3 พันบาท (แต่ปัจจุบันสมทบอยู่ที่ 600 บาทต่อปี ), ช่วงอายุ 30-50 ปี รัฐสมทบสูงสุดที่ 80% เป็นวงเงินสูงสุดต่อปีที่ 4.8 พันบาท (ปัจจุบันสมทบอยู่ที่ 960 บาท ) และช่วงอายุ 50 แต่ไม่เกิน 60 ปี สมทบให้ทั้ง 100 % หรือสูงสุดต่อปีที่ 6 พันบาท (ปัจจุบันสมทบเพียง 1.2 พันบาท )

แต่ทั้งนี้เราต้องคำนึงถึงภาระการคลังด้วยที่ต้องใช้งบจำนวนมากมาดูแล มันก็ลำบาก ซึ่งตรงนี้ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นได้แต่ก็ต้องหลัง 5 ปีไปแล้วหรือในปี 2563 เพราะกฎกระทรวงระบุว่า "ให้มีการทบทวนตามมาตรานี้ทุก 5 ปี " ส่วนประโยชน์จากการปรับเงินสมทบให้สูงขึ้นที่เห็นก็คือ 1.จูงใจให้คนฝากเงิน ออมเงินมากขึ้น 2.ส่วนคนที่ไม่เคยสนใจออมก็อาจมาสมัคร เพราะเงินสมทบที่มากขึ้น

 มาตรการจูงใจในอนาคต

อย่างไรก็ดีในอนาคต กอช.มองว่า เราอยากมีบทบาทช่วยสมาชิกบ้าง ในเรื่องของการลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ ยกตัวอย่าง จากฐานสมาชิกของเราส่วนใหญ่จะกู้เงินนอกระบบอยู่แล้ว กอช.ก็อาจต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทที่เป็นนอนแบงก์ สามารถปล่อยกู้ให้สมาชิกในเงื่อนไขหรืออัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยที่กอช.อาจไปร่วมทำแคมเปญผ่านนอนแบงก์ .รวมถึงการจัดโครงการให้ความรู้เพิ่มทักษะเพื่อให้สมาชิกมีช่องทางในการหารายได้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ กอช. ก็ต้องมีขนาดกองทุนที่ใหญ่พอ จึงจะพอรองรับภาระเหล่านี้ได้

มีโอกาสจะขยายตามอายุเกษียณเป็น 65 ปีไหม

ส่วนข้อถามที่ว่า การที่รัฐมีนโยบายจะขยายอายุข้าราชการเกษียณที่ 65 ปี ขณะที่ช่วงอายุการออมที่กอช.กำหนดไม่เกิน 60 ปี มีโอกาสจะปรับแก้ไขตามหรือไม่

เลขาธิการกอช. กล่าวว่า คงยากต้องไปแก้กฎหมาย แต่เมื่อปี 2558 มีพรบ.ที่ออกตามมากอช.ซึ่งให้สิทธิคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีอัพ หากสมัครภายในเดือนกันยายน ปี 2559 สามารถส่งได้ 10 ปี ซึ่งกรณีที่คนอายุ 55 ปี ถ้าเป็นพรบ.กอช.โดยปกติ จะส่งได้ถึง 60 ปีเท่านั้น หรือส่งอีกเพียง 5 ปี

แต่สำหรับพ.ร.บ.ที่ให้สิทธิพิเศษนี้ไม่ว่าคนจะอายุเกิน 60 ปี เกิน 70 ปี ก็สามารถสมัครได้หมดโดยให้ส่งได้ 10 ปีก็จะได้บำนาญ แต่ทั้งนี้ต้องสมัครให้ทันเดือนกันยายน 2559 เท่านั้น ซึ่งเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับคนที่อายุ 50 ปีอัพขึ้นไป

" การส่ง 10 ปีนี้มีความหมายมาก เพราะถ้าส่งต่ำกว่านี้โอกาสจะได้รับบำนาญจะมีน้อย เพราะการคำนวณบำนาญต้องมีเงินอยู่ในบัญชีมากระดับหนึ่ง เนื่องจากกฎหมายกอช.ระบุว่า ถ้าคำนวณออกมาแล้วได้น้อยกว่า 600 บาทต่อเดือน ให้จ่าย 600บาท และเรียกว่าเงินดำรงชีพ และบวก 600 บาทจากเบี้ยยังชีพ ก็จะมีรายได้พอจะยังชีพที่ 1,200 บาทต่อเดือน "

 ผลตอบแทน 7 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ปีที่แล้วมีแค่ 3 เดือน และปีที่แล้วเรายังไม่มีอนุฯด้านการลงทุน เพราะเพิ่งเริ่ม ผลตอบแทนจึงน้อยประมาณ 0.5% และปีนี้กว่าจะวางกฎเกณฑ์อะไรได้เสร็จก็เสียเวลาไป 3 เดือน แต่ปี 2559 ทั้งปีกอช.ตั้งเป้าหมายผลตอบแทนที่ 1.7% ก็อาจจะดีกว่านี้ได้ เพราะในครึ่งปีหลังกอช.จะลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าปัจจุบัน ขณะนี้ยังลงทุนแค่พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหลัก ส่วนการจะลงทุนในตราสารหนี้เอกชน เช่น หุ้นกู้เอกชน เราต้องรอให้ประกาศกระทวงออกมาอีกฉบับ ซึ่งจะนำเสนอผ่านบอร์ดกอช.ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาลงนาม

ที่ผ่านมาเราลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง แต่ต้องประกาศกฎกระทรวงออกมาก่อนว่าหุ้นกู้ต่างๆ ที่ลงทุนจะเป็นประเภทไหน เช่นหุ้นกู้ BBB ,BBB ก็น่าจะให้ผลตอบแทนสูง 3-4% กว่า ซึ่งจะช่วยทำให้ผลตอบแทนสูงกว่าเป้าที่คาดไว้ที่ 1.7% ได้ และปี 2560 จึงค่อยปรับเปลี่ยนไป จากปัจจุบันที่กอช.ลงทุนทั้ง 100% ในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง มาเป็นการลงในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงสัดส่วน 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่นหุ้น กองทุนรวม

แต่ว่าไปแล้วก็สอดคล้องกับโปรไฟล์ของสมาชิก กอช.ในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่จะอายุ 50 ปีอัพ แต่หากต่อไปฐานสมาชิกเริ่มขยายไปกลุ่มนักเรียน หรือกลุ่มคนช่วง 30-50 ปี เราก็อาจขยายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงบ้างให้มากขึ้น

 แนวทางขยายฐานสมาชิกเป้า 1.5 ล้านคนปีนี้

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผมอยู่ในช่วงวางเครือข่ายที่ทดลองทำแล้ว 3 แนวทางคือ 1.ผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชมซึ่งมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว เช่นกองทุนสัจออมทรัพย์ที่เราไปลงพื้นที่แล้ว ที่จังหวัดพะเยา แพร่ โดยที่พะเยา เราเซ็นเอ็มโอยูไปแล้ว 5 กองทุน กำลังดูว่าจะได้สมาชิกมากน้อยเท่าไร

2.ผ่านกองทุนหมู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเกรด A ,B ที่บางแห่งวันนี้รุดหน้าไปเป็นสถาบันการเงินชุมชน ดังนั้นแทนที่จะออมกันเอง เราก็ดึงมาออมกับกอช.ส่วนหนึ่ง และ 3.ผ่านโรงเรียน โดยกอช.เริ่มไปพูดคุยผ่านสำนักงานการศึกษามัธยมพื้นที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ซึ่งหลายโรงเรียนผู้ปกครองมีศักยภาพจะออมให้บุตรหลานได้

กลยุทธ์ เราเริ่มเปลี่ยนรูปแบบคือนอกจากสื่อสาร จะหันมาเน้นในเรื่อง "การเข้าถึง" และต้องปิดดีล เช่นเมื่อลงพื้นที่ไปสื่อสารที่ไหน ระหว่างที่พูดก็ต้องมีแบงก์หรือมีหน่วยรับสมาชิกรับสมัครจุดนั้นไปด้วย รวมไปถึงการประสานผ่านหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นปากเป็นเสียงให้ การเคหะแห่งชาติ และขณะนี้เองทางร้านสะดวกซื้อ อย่างเซเว่นฯ ก็ติดต่อเราเข้ามาเพื่อเป็นตัวกลางให้สมาชิกจ่ายเงินออม

 ออมเพียง 10 ปีเกษียณได้บำนาญ 3 พันบ./เดือน

" เงินสะสมที่ทิ้งไว้กับกอช.ในช่วงที่เรียน มันเหมือนพลังที่เกิดจากการปล่อยให้เงินทำงานเอง เพราะเมื่อถึงเวลาจะได้เยอะทีเดียว ยกตัวอย่าง ช่วงที่เป็นนักเรียน ฝากเดือนละ 1.1 พันบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี คือเริ่มฝากตั้งแต่อายุ 15 ปีถึง 24 ปี และไม่ส่งต่อ ปล่อยให้เงินทำงานของมันเอง ถึงเวลา อายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญเฉลี่ยที่เดือนละ 3 พันบาท ( คิดผลตอบแทนเฉลี่ย 3.5% ) ไปจนตลอดชีวิต หรืออย่างน้อยได้รับเป็นเวลาถึง 20 ปี ( คำนวณโดยเฉลี่ยจาก 60 ปีถึง 80 ปี ) และในกรณีที่ส่งเพียงเดือนละ 100 บาท ตั้งแต่อายุ 15 ถึง 59 ปี โดยไม่เพิ่มเลย พออายุ 60 ปี จะได้เงินบำนาญเฉลี่ยที่เดือนละ 1 พันบาท คือมากกว่าเดิมถึง 10 เท่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559