การประชุมเอเปค หรือ APEC 2022 THAILAND เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยนอกเหนือการประชุมของผู้นำ และการประชุมในระดับรัฐมนตรี และนักธุรกิจแล้ว ในช่วงของการประชุมเอเปค ยังมีการประชุมหารือแบบ “ทวิภาคี” ของผู้นำประเทศหลายเวทีด้วยกัน
ทั้งนี้ตามวาระงานประจำวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการหารือแบบ “ทวิภาคี” ของผู้นำประเทศ ดังนี้
เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคี กับ นายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และ นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
เวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
เวลา 17.15 น. นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
การหารือทวิภาคีไทย-ฝรั่งเศส และ ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ
มีสาระสำคัญเป็นเอกสารสรุปผลการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยระบุแผนการดำเนินการเร่งด่วนภายใต้แผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย - ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022 - 2024) ได้แก่
การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน การส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นระดับโลก
การหารือทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น และ ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมฯ
ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ในโอกาสการครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และการครบรอบ 10 ปี ของการเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” และสะท้อนถึงพัฒนาการทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
โดยร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยไม่มีรูปแบบ ถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ
รวมทั้งยังมีร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ เป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือต้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในห้วงปี 2565 - 2569 ประกอบด้วยกลุ่มความร่วมมือ 3 ด้านหลัก ได้แก่
รวมถึงความร่วมมือย่อยใน 15 สาขา โดยมีการประชุม HUC เป็นกลไกในการทบทวนและติดตามความคืบหน้าการนำแผนปฏิบัติการร่วมฯ สู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม