จากที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ได้เตรียมเสนอผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อช่วยขับเคลื่อนในหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องสำคัญคือการผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหากสำเร็จจะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งในแง่ประชากร (2,900 ล้านคน 38% ของประชากรโลก และจีดีพี 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 62% ของจีดีพีโลก) โดยในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการค้ากับกลุ่มเอเปค 12.23 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 72% ที่ไทยค้ากับโลก
อย่างไรก็ดี การจัดตั้ง FTAAP ในมุมนักวิชาการมองว่าเป็นไปได้ยาก โดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจัดตั้ง FTAAP มีความเป็นไปได้ยาก และไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้แน่นอน เนื่องจากในเอเปคมีทั้งจีน สหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักของโลก ทั้งทางเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ขณะ 30 กว่าปีของการจัดตั้งเอเปคเป็นเวทีประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ไม่มีผลผูกพันที่เป็นรูปธรรม
“การทำ FTAAP ให้ครอบคลุม 21 เขตเศรษฐกิจคงเป็นเรื่องยาก เพราะสมาชิกเอเปคมีทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมีความขัดแย้งกันในทุกมิติรวมอยู่ด้วย และยังทำสงครามการค้าระหว่างกันอยู่ ดังนั้นไม่น่ารวมกันได้ แต่หากทยอยทำเอฟทีเอโดยเริ่มจากประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งระหว่างกันก่อนอาจมีความเป็นไปได้ เช่น ประเทศจากอาเซียนกับประเทศในเอเชียแปซิฟิกอื่น ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สุดท้ายคงทำได้ไม่ครบ 21 เขตเศรษฐกิจ เพราะหากมีสหรัฐฯก็ไม่มีจีน และหากมีจีนก็คงไม่มีสหรัฐฯในเอฟทีเอนี้”
อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่สมาชิกเอเปคควรทำคือ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามผลสรุปและความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และไม่เร่งด่วนที่เป็นผลลัพธ์จากการประชุมเอเปคในแต่ละปีก่อนหน้านี้ เพื่อให้ผู้นำเร่งขับเคลื่อน โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิญญาผู้นำ APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพปีนี้เพื่อส่งให้สหรัฐฯอเมริกาที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปค 2023 ได้รับเรื่องไปดำเนินการต่อ
สอดคล้องกับ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่กล่าวว่า การจัดตั้ง FTAAP มีความเป็นไปได้ยากหากสหรัฐฯไม่เอาด้วย และยิ่งในเอเปคที่มีทั้งจีน และรัสเซียที่เป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ ในเกือบทุกด้านยิ่งมีความเป็นไปได้ยากมาก ซึ่งในส่วนของสหรัฐฯยังต้องนำเรื่องผ่านความเห็นชอบของสภาฯด้วย ขณะที่เวลานี้ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ก็มีเวทีกลุ่มการค้าเสรีของตัวเองเป็นผู้เล่นหลักอยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกามีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) จีนมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) และญี่ปุ่นมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) อาจยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมี FTA เพิ่ม
ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า เรื่อง FTAAP ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในเวทีเอเปคเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โดยเป็นข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) แต่การหารือที่ผ่านมาไม่คืบหน้า เมื่อไทยรับไม้ต่อการเป็นประธานเอเปคในปีนี้ จึงได้เสนอประเด็นนี้ให้มีการหารือในการประชุมระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน (ระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับ ABAC) ในเดือน พ.ค. 2565
ในเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกภาครัฐ และเอกชนเอเปคว่า FTAAP เป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยให้เอเปคฟื้นตัว และเข้มแข็งเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค(AMM) ครั้งนี้ สมาชิกเอเปคในระดับเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนงาน FTAAP agenda Work Plan ที่มีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (2566-2569) ซึ่งแผนงานดังกล่าวจะสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคสามารถนำเสนอข้อริเริ่มหรือโครงการที่อยู่ในความสนใจ ทั้งประเด็นการค้าดั้งเดิมและประเด็นการค้าใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนวาระงาน FTAAP ทั้งนี้ เอเปคจะรายงานความคืบหน้าของแผนงานดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคทุกปี
“เอเปคส่งเสริมการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ผ่านกลไกและเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนวาระงาน FTAAP ที่ผ่านโครงการความร่วมมือและทำหน้าที่เป็นเวทีที่บ่มเพาะข้อริเริ่มใหม่ ๆ โดยสมัครใจและไม่มีผลผูกผัน ที่ผ่านมา วาระงาน FTAAP จะมีขอบเขตความสนใจทั้งประเด็นการค้าการลงทุนที่มีอยู่ในวาระงาน FTAAP มาโดยตลอด เช่น การส่งเสริมการเปิดตลาด/ลดอุปสรรคด้านการค้าการลงทุน เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับประเด็นการค้ายุคใหม่ (new generation trade issues) ใน FTAAP เช่น การค้าดิจิทัล ประเด็นสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมในการเข้าถึงตลาดของกลุ่มต่าง ๆ เช่น MSMES และสตรี เป็นต้น เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น” นางอรมน กล่าว
ดังนั้น การจัดตั้ง FTAAP จึงยังต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับความเข้าใจและเป้าหมายที่ต้องการดำเนินการในวาระงาน FTAAP รวมถึงการลดช่องว่างด้านศักยภาพของเขตเศรษฐกิจ ดังนั้น การดำเนินการในวาระงาน FTAAP จึงยังคงเป็นเป้าหมายการดำเนินการระยะยาวของเอเปคต่อไป
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3837 วันที่ 20 – 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565