การประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพมาตลอดทั้งปีนี้ เหลืออีก 2 เวทีใหญ่ ที่เป็นไฮไลท์สำคัญ คือการประชุมสุดยอดผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 โดยหัวข้อหลัก (Theme) คือ Open. Connect. Balance (เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล) โดยความคิดริเริ่มที่ไทยนำเสนอที่ประชุมครั้งนี้คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เพื่อการฟื้นตัวหลังโควิด ซึ่งผลลัพธ์จากการประชุมทั้งร่างปฏิญญาผู้นำ และร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรีของไทยจะได้แถลงต่อไป
อีก 1 เวทีใหญ่คู่ขนานกัน ในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ จะมีการประชุม APEC CEO Summit 2022 ภายใต้ Theme ที่สอดคล้องกับภาครัฐ คือ “EMBRACE ENGAGE ENABLE” (เปิดรับโอกาสใหม่ รวมพลังคิดสร้างสรรค์ ขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ) ที่ล่าสุดมีซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกและของไทย รวมถึงผู้นำเขตเศรษฐกิจตอบรับเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อกำหนดทิศทางของโลกอย่างคับคั่ง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เจ้าภาพจัดการประชุม APEC CEO Summit 2022 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจัดประชุมครั้งนี้ได้มีการเชิญผู้นำและบุคคลสำคัญระดับโลก ทั้งจากภาครัฐและเอกชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ มาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่าง ๆ โดยเป้าหมายหลักของการจัดงาน คือการส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในทุกมิติ
ไฮไลท์สำคัญในวันที่ 17 พ.ย. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดงาน ถัดจากนั้น ในหัวข้อแรก คือ “THE GLOBAL ECONOMY AND THE FUTURE OF APEC” นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายโรเบิร์ต อี มอริตซ์ ประธาน บริษัท PricewaterhouseCoopers และศาสตราจารย์เคลาส์ มาร์ติน ชวับ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum (WEF) ขึ้นร่วมเสวนาบนเวที
จากนั้นนายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม จะขึ้นกล่าวในหัวข้อ TRADE AND INVESTMENT ถัดจากนั้น ในประเด็น SUSTAINABILITY นายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ ประธานาธิบดีชิลี จะขึ้นบรรยายร่วมใน Panel หัวข้อ “BUILDING SUSTAINABLE ECONOMIES, BUSINESSES AND SOCIETIES” ต่อด้วย นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ที่จะขึ้น panel discussion ในหัวข้อ “PROMOTING INCLUSIVE GROWTH AND DEVELOPMENT IN APEC” ร่วมกับ Mr. Karan Bhatia, Global Head of Government Affairs &Public Policy, Google และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ในวันที่สอง (18 พ.ย. 65) นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “NAVIGATING A TURBULENT WORLD” ขณะที่นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ Food Security Session มีนายพอล กิลดิ้ง อดีต Global head of Greenpeace, นายศุภชัย เจียรวนนท์ Group CEO ของ CP และ นายจอห์น คาปูชิตติ Co-Founder ของ Evolved Meat ร่วมเวที
ส่วน Digital Session นายโห่ย หลิงตัน Co-Founder และ COO ของ Grab นายเจสัน เฉิน President และ CEO ของ ACER ขึ้นเวทีร่วมกับ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และที่พลาดไม่ได้อีกช่วง คือ Innovation Session ที่จะได้ผู้แทนของทั้ง Meta (Facebook) มาขึ้น เวทีร่วมกับ Amazon Web Services (AWS) ที่เพิ่งประกาศการลงทุนในไทยเมื่อไม่นานมานี้
“นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของหัวข้อสำคัญ ๆ ที่จะได้รับฟังมุมมองของผู้นำและซีอีโอระดับโลก ในงาน APEC CEO Summit 2022 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 พ.ย. นี้” นายสนั่น กล่าว
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคในปีนี้ ไทยจะได้รับประโยชน์ในการเสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก การกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงสามารถกำหนดประเด็นที่ไทยสนใจและนำเสนอต่อเอเปค อาทิ เรื่อง BCG Model ที่เป็นวาระแห่งชาติของไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19
“ที่สำคัญ ABAC จะพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่เป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจและรวมพลังขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก 21 เขตเศรษฐกิจไปเป็น FTAAP ในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2583 หากสำเร็จจะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชากรรวมกันถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก และจะมี GDP คิดเป็น 62% ของ GDP โลก มีมูลค่าประมาณ 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,978 ล้านล้านบาท” นายเกรียงไกร กล่าว