นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย เปิดเผยถึง การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 อย่างไม่เป็นทางการ ช่วงที่ 1 – การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน (18 พ.ย. 2565) ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้นำเสนอแนวคิด เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) ต่อที่ประชุม โดยเน้นว่าจะเป็นแนวทางส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน โดยการนำความหลากหลายทางชีวภาพ มาบวกกับเรื่องของการดำเนินเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว
สำหรับการหยิบยกประเด็น BCG มาหารือในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของเอเปค ที่จะช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าการค้า-การลงทุนโดยนายกรัฐมนตรีของไทยหวังว่าในการปิดประชุมเอเปคในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ย.) ทุกเขตเศรษฐกิจ จะร่วมกันประกาศเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่จะเป็นเอกสารครั้งสำคัญของเอเปคที่เกิดขึ้นในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
ขณะที่ ประเด็นสำคัญ ๆ ที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจได้พูดคุยกันในที่ประชุม มีการเน้นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นตรงกันว่า ปัญหาของรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของทุกเขตเศรษฐกิจ ทั้งผลกระทบเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เศรษฐกิจถดถอย และการขาดแคลนวัตถุดิบ ทั้งนี้ จึงให้น้ำหนักกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทุกคนต้องมีส่วนร่วมกับกระบวนการฟื้นฟู โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(MSMEs) บทบาทสตรี และกลุ่มชุมชนท้องถิ่น
รวมทั้งประเด็นการพัฒนาดิจิทัล ที่เป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างการเติบโตที่ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ประเด็นสำคัญ จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับทุกคนในเขตเศรษฐกิจ
“ผู้นำทุกเขตเศรษฐกิจ ต่างให้การสนับสนุนและชื่นชมแนวทาง BCG ของไทยโดยเฉพาะร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพราะเชื่อว่าจะมีส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถร่วมกัน และที่สำคัญทุกเขตเศรษฐกิจ จะได้พัฒนาทรัพยากรร่วมกัน”
และในเรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องของพลังงาน และการทำเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสนับสนุนคความยั่งยืนโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล และสนับสนุนให้หาแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance ) มามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว