เปิดสมัยประชุมสภาฯ ตั้งแต่ 1 พ.ย.2565-28 ก.พ.2566 วาระร้อนในการพิจารณากฎหมาย แก้กฎหมายอยู่ 2-3 เรื่องด้วยกัน ประเด็นสำคัญที่เป็นที่ถกเถียงอยู่มาก และมีการจัดทำร่างแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตรปี 2560 โดยสภาฯ รับหลักการและตั้งกรรมาธิการแก้ไขในวาระแรกมาแล้ว มีประเด็นกฎหมายที่เดิมกำหนดใจความว่า ผู้ใดมีความประสงค์ที่จะผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ มีเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์ไว้ในครอบครอง ต้องยื่นคำขออนุญาตแก่อธิบดี และต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อตกลงตามที่กระทรวงกำหนดขึ้น
ผู้ใดที่ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี ถึงแม้ว่าจะผลิตเพื่อบริโภคเองถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ห้ามผลิต หรือ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จัดทำขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี โรงงานผลิตเหล้าขาวต้องใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมตํ่ากว่า 5 แรงม้า หรือ ใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน โรงงานผลิตเหล้ากลั่นเช่น วิสกี้ / บรั่นดี และกลั่นชนิดเอทานอลต้องมีปริมาณกำลังผลิต 90,000 ลิตร/ต่อวัน สำหรับ 28 ดีกรีเท่านั้น โรงงานผลิตเบียร์ต้องมีกำลังการผลิตไม่ตํ่ากว่า 10,000,000 ลิตรต่อปี กรณีของการตั้งบริษัทเบียร์ต้องจดทะเบียนไม่ตํ่ากว่า 10,000,000 บาท และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000,000 บาท หากต้องการผลิตเบียร์เพื่อจำหน่ายในร้านค้าต้องมีขนาดกำลังการผลิตไม่ตํ่ากว่า 100,000 ลิตรต่อปีและไม่เกิน 1,000,000 ลิตรต่อปี
ขณะที่ร่างแก้ไขสรุปความว่า ผู้ใดมีความประสงค์ที่จะผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์ไว้ในครอบครองให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี” แก้ไขเป็น “ผู้ใดจะประสงค์ผลิตสุราเพื่อการค้า ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี ไม่กำหนดเกณฑ์ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเหล้าและเบียร์ กรณีของการตั้งบริษัทเบียร์ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน ยกเว้นแต่การกำหนดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย
มีสัญญาณจาก ครม. นัดล่าสุด ไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา เกรงว่าหากกฎหมายผ่านจะไม่มีมาตรการรองรับความปลอดภัย จะมีปัญหาเรื่องการต้มสุราเถื่อนและการผลิตกันอย่างเสรีไม่มีคุณภาพ และหวั่นเกรงจะมีการขายสุราเถื่อนเกลื่อนเมือง เหมือนกับกัญชาเสรีที่เป็นปัญหาอยู่ จะรับผิดชอบไม่ไหว กรณีเกิดมีการต้มเหล้าผิดกฎหมาย
รัฐบาลกำลังตีโจทย์พลาดในการแก้พ.ร.บ.นี้ ที่ซึ่งการแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดการแข่งขัน ในกรณีผู้ที่จะทำเพื่อการค้า แต่ไม่มีทุนมากพอตามที่กำหนดกฎเกณฑ์ไว้สูง ให้ลดกฎเกณฑ์ลงมาเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กสามารถดำเนินการ เป็นคนละประเด็นกับการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ คนละประเด็นกับคุณภาพมาตรฐานการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ต้องกำหนดภายใต้เงื่อนไขกฎกระทรวงอีกโสตหนึ่งหรือกฎหมายอื่น ซึ่งว่าโดยกระบวนการ การพัฒนา การกำหนดนโยบายแล้ว รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรมในตลาด ไม่ใช่จำกัดการแข่งขัน โดยกฎระเบียบที่มีอยู่เอื้อให้ผู้ที่มีทุนมากกว่าสามารถทำได้ แต่ปิดโอกาสคนตัวเล็ก จำต้องทบทวนและแยกแยะให้ออกระหว่างการผลิตกับการควบคุมการบริโภค