ศึกการค้า 3 เส้า : สหรัฐฯ จีน อินเดีย “ไทยได้หรือเสีย?”

14 พ.ย. 2567 | 21:31 น.

4 ปีข้างหน้า นโยบายการกีดกันการค้าผ่านการขึ้นภาษีนำเข้าซึ่งกันและกันจะรุนแรงขึ้น และสิ่งที่จะได้เห็นคือ การกดดันจากสหรัฐอเมริกา ให้นำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลเพื่อลดขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯ (1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐกับทั่วโลก)

บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

สหรัฐ จีน และอินเดีย มีข้อพิพาทใน 3 เรื่องใหญ่คือ การค้า เทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์ การกลับมาอีกครั้งของทรัมป์ ทั้ง 3 ประเด็น จะกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ที่อาจรุนแรงขึ้น

จีนกับอินเดีย จีนส่งออกไปอินเดีย เพิ่มขึ้นทุกปีจาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2014) เป็น 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (2023) ในสินค้าหลัก เช่น โทรศัพท์ เครื่องจักร และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่จีนนำเข้าจากอินเดีย 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ(2014) เป็น 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อินเดียขาดดุลการค้ากับจีน จาก 3.4 เป็น 9 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่อินเดียส่งออกไปจีนคือ เหล็ก ฝ้าย นํ้ามันปิโตรเลียม

ข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย เริ่มตั้งแต่ปี 2014 ที่อินเดียมี Make in India เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้า และออกมาตรการ Atmanirbahar Bharat หรือ ลดพึ่งพิงสินค้าจีน (Self-Reliant India) เริ่มปี 2020 เพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตอินเดียในตลาดโลก เพิ่มศักยภาพภาคเอกชนให้เข้มแข็ง เน้นส่งออก สินค้าเกษตร เสื้อผ้า และอัญมณีในตลาดโลก และการขึ้นภาษีจีน (จีนขึ้นสินค้าอินเดียเช่นกัน) ความขัดแย้งชายแดนหุบเขา Galwan Valley ในปี 2020 ยิ่งซํ้าเติมการค้าของ 2 ประเทศให้แย่ลง

ศึกการค้า 3 เส้า : สหรัฐฯ จีน อินเดีย “ไทยได้หรือเสีย?”

ส่วนสหรัฐฯ กับจีน จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของสหรัฐฯ รองจากแคนาดา และเม็กซิโก สหรัฐ ส่งออกไปจีน เพิ่มจาก 1.2 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกถั่วเหลือง ชิ้นส่วนเครื่องบิน ชิป นํ้ามัน

ในขณะที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ จาก 4.86 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 5.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (2022) และลดลงเหลือ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนส่งออก โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร เสื้อผ้าและสิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้จากที่ทรัมป์จะเก็บภาษีจีนมากกว่า 60% จีนก็คงตอบโต้เช่นกัน ส่วนกลุ่ม BRICS จะเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อหนีการค้ากับสหรัฐ

สหรัฐฯ กับอินเดีย สหรัฐ ส่งออกไปอินเดียจาก 2 หมื่น เพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสินค้านํ้ามันดิบ ชิ้นส่วนเครื่องบิน เครื่องจักร ถั่วเหลือง อินเดียส่งออกไปสหรัฐ จาก 4.6 หมื่น เพิ่มเป็น 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับอินเดีย 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทรัมป์จะเก็บภาษีสินค้าจากทุกประเทศ 10-20% ขณะอินเดียจะขึ้นภาษีทั้งจีนและสหรัฐ และตรวจมาตรฐานสินค้าซึ่งกันและกัน

สินค้าไทยจะได้ประโยชน์หรือเสีย ในสถานการณ์แบบนี้ไม่ง่าย เพราะไทยก็จะถูกสหรัฐเก็บภาษี เช่นกัน กรณีสหรัฐ ไม่นำเข้าจากจีน ไทยน่าจะได้ประโยชน์ ที่สหรัฐหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทน แต่สหรัฐก็คงนำเข้าจากอาเซียนอื่น ๆ เช่นกัน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เสื้อผ้า เกษตรแปรรูป (อาหาร และยางพารา) น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาส ขึ้นกับการเจรจาต่อรองภายใต้แนวคิดทวิภาษีของทรัมป์

ส่วนกรณีที่สหรัฐ ขึ้นภาษีสินค้าอินเดีย กลุ่มสินค้า อัญมณี เสื้อผ้า เครื่องจักร ข้าวและสินค้าเกษตร ไทยมีโอกาสส่งออกไปแทนสินค้าอินเดียในสหรัฐ ส่วนกรณีสงครามเทคโนโลยี ไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ ดึงการลงทุนบริษัทชิปสหรัฐ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และไม่ว่า จีน อินเดีย ไม่ลงรอยด้านการค้า ทั้งสองประเทศก็ผลักดันให้เกิด BRICS ส่วนอินเดียจะถูกเก็บภาษีจากสหรัฐ อินเดียก็ยังเข้าร่วม QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ประกอบไปด้วย สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย