ปัญหาอ้อย-น้ำตาล: ทางออกอยู่ที่การตั้งโจทย์

01 พ.ย. 2565 | 01:15 น.

หลังจากที่ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับแก้ไขล่าสุด ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรตามการแก้ไขของวุฒิสภา ในเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น

โดยมีวัตถุประสงค์หลักก็คือ การแก้ไขในเรื่องต่าง ๆ ที่ล่อแหลมหรือขัดต่อกติกาการค้าโลก ตามที่ถูกประเทศบราซิลยื่นคำร้องต่อ WTO ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นดี เห็นงามในประเด็นการแก้ไขครั้งนี้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเดียว คือ “กากอ้อย” 

 

สิ่งที่ตามมา คือ ประเด็นการถกเถียงเรื่องผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล ที่มีการระบุว่า “กากอ้อย” เป็นผลพลอยได้ ซึ่งถูกเพิ่มมาในวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร และเรื่องนี้บานปลายนำไปสู่ความไม่พอใจของกลุ่มโรงงานน้ำตาล จนประท้วงโดยการลาออกจากกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

 

ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อหารือในเรื่องต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการเปิดฤดูกาลในปี 2565 - 2566 ซึ่งปกติจะเปิดฤดูกาลหีบอ้อยในต้นเดือนธันวาคมของทุกปี

 

วันนี้แต่ละฝ่ายออกมาแจงจุดยืนของตนเองในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในเรื่องนี้อย่างรุนแรง จนแปลกใจว่าคนที่อยู่ในระบบแบ่งปันแบบนี้กว่า 40 ปี ระบบที่รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมากมาย เพื่อการรักษาเสถียรภาพ 

จนเป็นระบบที่ผู้คนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องมีรายได้มากจนคนในสาขาพืชเกษตรอื่น ๆ อิจฉา จะมาถึงจุดแตกหักในเรื่องผลประโยชน์ เรื่อง “กากอ้อย” ทั้ง ๆ ที่ คำว่ากากอ้อยก็ถูกตีความโดยสำนักงานกฤษฎีกาแล้วว่าเป็น “ผลพลอยได้” และเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ก็คุยกัน เถียงกันมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่เคยคุยกัน  

 

ผมไม่พูดถึงเหตุผลของแต่ละฝ่ายว่าเป็นอย่างไร เพราะออกมาให้สัมภาษณ์กันเยอะมากแล้ว และแต่ละฝ่ายยังยืนยันสิทธิ์ในกากอ้อยว่าเป็นของตนเองเท่านั้น แต่อีกฝ่ายก็ยังยืนยันต้องนำมาคิดเป็นรายได้ของระบบ ซึ่งต่างฝ่ายก็มีเหตุผลที่คิดว่าตัวเอง “ถูกและดี”

 

ดังนั้น โจทย์ของทั้งสองฝ่ายมีอยู่ในวิธีคิดก็คือ ฝ่ายชาวไร่ “ถ้านับรวมกากอ้อย รายได้ตนจะเพิ่มขึ้น” ส่วนฝ่ายโรงงาน ก็คือ “รายได้ลดลงถ้าคิดค่ากากอ้อย” และนี้คือ Zero Sum Game คนหนึ่งได้คนหนึ่งเสีย ฝ่ายหนึ่งอยากได้รายได้เพิ่ม แต่เงินมาจากกระเป๋าอีกฝ่าย แบบนี้ ผมว่าหาข้อสรุปยากและเพื่อนไม่คุยด้วย  

 

แต่หากตั้งโจทย์ใหม่ “หารายได้เพิ่มให้ระบบอย่างไร” ผมว่าทั้งสองฝ่ายคงคุยกันสนุกสนาน เพราะเป็น Win-Win Game สำหรับทั้งสองฝ่าย เสมือนทั้งสองมีงานเลี้ยง และคนอื่นอื่นเป็นคนจ่ายบิล เพราะที่ผ่านมานั้น ในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งทางโรงงานและชาวไร่อ้อยก็ร่วมมือแข็งขันเพื่อกดดันให้รัฐบาลสนับสนุน มีมาตรการส่งเสริม ขึ้นราคาน้ำตาลทราย หรือจ่ายหนี้แทนกองทุน ก็มีมากแล้ว 

ดังนั้น วันนี้หากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย หันหน้ามาคุยกันใหม่ โดยเริ่มตั้งโจทย์กันใหม่ เราอาจหาคำตอบได้ไม่ยากและเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายก็ได้ โจทย์ที่ผมคิดว่า ง่าย เป็นประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบ ก็คือ “ทำอย่างไรให้รายได้ในระบบเพิ่มขึ้น” และหากเราหยุดเถียงกันสักนิดแล้ว จะเห็นว่ากากอ้อยไม่ใช่คำตอบเดียวและอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้ ก็เป็นได้

 

การเพิ่มรายได้ในระบบ ในขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงความมีเสถียรภาพของระบบที่พึ่งพิงรัฐน้อยลงตามเจตนารมณ์ของการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งการเพิ่มรายได้ให้กับระบบเพื่อนำมาแบ่งปันกัน 70-30 นั้น ทำได้ คือ 

 

  • การรักษาระดับราคาน้ำตาลทรายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ เนื่องจากไม่มีการประกาศราคาน้ำตาลทรายในตลาดเหมือนเดิม ดังนั้น การรักษาราคาไม่ให้เกิดความผันผวนผ่านการหลีกเลี่ยงการตัดราคาขาย จนกระทบกับราคาน้ำตาลอ้างอิงในการคิดรายได้ของระบบ ซึ่งปัจจุบันจำนวนน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในประเทศปีละ สองล้านกว่าตันนั้น หากบริหารราคาให้ดีก็น่าจะเป็นรายได้ที่สำคัญ

 

  • การพัฒนาคุณภาพอ้อยและมาตรฐานอ้อยที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิต หากโรงงานมีวัตถุดิบที่ดีในการหีบ ก็จะทำให้มีผลผลิตต่อหน่วยสูง และมีระดับความหวาน (CCS) ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตน้ำตาลและรายได้รวมที่สูงขึ้น ซึ่งการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน และการตรวจสอบคุณภาพต้องมีเข้มงวด ไม่เช่น คุณภาพวัตถุดิบ (อ้อย) ที่เข้ามาสู่โรงงาน ที่ทั้งปลายยาว ไฟไหม้ ฯลฯ จะทำให้ค่าเฉลี่ยของตัวแปรต่าง ๆ ในการประเมินรายได้ของระบบลดลง 

 

  • มาตรฐานโรงงานที่อาจต้องทำพร้อมไปกับมาตรฐานอ้อย เพราะจะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น เปอร์เซ็นต์ความหวานและผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้ระบบมีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพต่ำ ความหวานต่ำ และยังเสียรายได้อุดหนุนด้วย 

 

  • การพัฒนาระบบการปลูก การตัดอ้อย เพื่อให้สามารถสร้างระบบให้การตัด การนำเข้าสู่โรงงาน มีความสอดคล้องกัน เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตที่ได้อ้อยป้อนโรงงานในสภาพที่ดีที่สุด

 

ผมเชื่อว่า คนที่เกี่ยวข้องในวงการอาจจะบอกว่าก็พยายามแล้ว แต่ทำได้ยาก เพราะทุกจุดของกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูก การตัด การขนส่ง การหีบ การขาย แต่ละส่วนมีผู้ได้ผลประโยชน์ต่างกัน และผู้เล่นไม่ใช่มีเพียงชาวไร่กับโรงงาน แต่ระหว่างกลางนั้น มีผู้นั้น ผู้นี้อีกมากหลายผู้ และหลายผู้ก็สวมบทบาทหลายอย่าง และที่สำคัญผลประโยขน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมบ่อยครั้งไปด้วยกันไม่ได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นใหญ่ ๆ ในสมาคมน้ำตาลและชาวไร่ หากเล่นเพลงเดียวกัน ผมเชื่อว่าแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ ผมว่าหากเราเปลี่ยนโจทย์ใหม่ โจทย์ที่เราทั้งสองไม่เสีย และได้ทั้งสองฝ่าย ผมว่าก็คุยกันได้ เหมือนที่เราเคยร่วมมือกันมาหลายสิบปี และนำอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านพายุ ผ่านความยากลำบากต่าง ๆ มาจนถึงวันนี้ วันที่พวกเราพูดอย่างภูมิใจว่าเป็นเพราะความร่วมมือของชาวไร่และโรงงานน้ำตาล ทำให้ระบบอ้อยและน้ำตาลเป็นตัวอย่างที่พืชอื่น ๆ อยากเดินตาม ..... 

 

คำกล่าวนี้ ผมไม่ได้คิดเองครับ แต่ฟังจากคนในวงการนี้พูดหลายครั้งต่อหลายครั้ง และผมก็คิดว่า ครั้งนี้ก็คงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ท้าทายความสามัคคีของชาวไร่อ้อยและโรงงานอีกครั้งหนึ่ง และหากแนะนำได้ ท่านลองตั้งโจทย์ในการคุยกันใหม่เถอะครับ