“อุบลศักดิ์” เสนอตัวไกล่เกลี่ยปมข้อพิพาทระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อย

19 ต.ค. 2565 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2565 | 17:37 น.

“อุบลศักดิ์” กล่อมโรงงานน้ำตาลเห็นใจชาวไร่อ้อย เผชิญความเสี่ยง ภัยแล้ง น้ำท่วม ค่าปุ๋ยยาง แพง ยังไม่พ้นกับดักความยากจน ขอแบ่งปันผลผลพลอยได้ ปีหนึ่งกว่า 3 หมื่นล้าน พร้อมเสนอตัวไกล่เกลี่ย ชี้ข้อไหนทำได้ ไม่ได้ มากางตัวเลขโชว์ โดยตั้งพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน

อุบลศักดิ์ บัวหลวงาม

 

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม กรรมาธิการที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย เผยผ่านงาน สัมมนา “พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลใหม่ ฉุดไทยติดหล่ม? ทิศทางอนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  กล่าวออกตัวก่อนว่า ตนไม่เคยเป็นเครื่องมือใครไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือโรงงาน ต้องตั้งประเด็นก่อนว่าวันนี้โรงงานก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 40 ปี ต้นทุนถามว่าอยู่ตัวอยู่หรือ แต่ชาวไร่อ้อยนั้น ต้องเรียนว่าปีไหนฝนแล้ง ความเสี่ยงอยู่กับชาวไร่อ้อย และในปัจจุบันนี้จะเห็นว่าโรงงานน่าจะมีความสุขมากกว่าชาวไร่อ้อย จากที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตกอยู่ในสภาพล้มละลาย

 

“ในฐานะนักการเมือง เกษตรกรมีความทุกข์ เมื่อเราได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจากเสียงประชาชน ผมต้องออกกฎหมายเพื่อให้ทุกคนมีความสุขอย่างเสมอภาคกันเท่าที่ทำได้ วันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ถ้าชาวไร่อ้อยไม่มีโรงงาน ก็ไม่สามารถนำผลผลิตไปแปรรูปได้ แล้วถ้าโรงงานสร้างมาแล้วไม่มีชาวไร่อ้อยแล้วคุณจะอยู่ได้อย่างไร”

 

นายอุบลศักดิ์ กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยส่งให้มาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ เพราะพรรคเพื่อไทยเล็งเห็นแล้วว่าระบบแบ่งปันผลประโยชน์น้ำตาล 70 ต่อ 30 ทำไมชาวไร่อ้อยทำไมจนเหมือนเดิม ก็เพราะมีความเสี่ยงน้ำท่วม ภัยแล้ง  ค่ายาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย ซึ่งผู้ลงทุนคือชาวไร่อ้อย แต่โรงงานน้ำตาล ถ้าหาก อ้อยไม่เข้าโรงงานก็ไม่ได้ลงทุนอะไรเพิ่มเติม หรืออาจจะลงทุนบ้างเล็กน้อย แต่ความเสี่ยงตกอยู่กับชาวไร่อ้อย100%

 

 

นายอุบลศักดิ์  เล่าเหตุการณ์ ย้อนไปในที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวันดังกล่าวมี ผมกับ นายโกศล ปัทมะ ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา ขอสงวนความเห็นเกี่ยวกับบทบัญญัติในมาตรา 2/1 เกี่ยวกับผลพลอยได้หมายถึงกากอ้อย กากน้ำตาล และผลพลอยได้อื่นที่รวมถึงอ้อยน้ำตาลทราย เพื่อนำไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์”

 

“อุบลศักดิ์”  เสนอตัวไกล่เกลี่ยปมข้อพิพาทระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อย

 

ในวันนั้นในกมธ.ก็ไม่มีใครเห็นด้วย แต่ผู้แทนทั้งประเทศทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวเห็นด้วย จึงทำให้คณะกรรมาธิการต้องขอกลับไปแก้ไขใหม่จึงมีคำว่าผลพลอยได้ ถามว่าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ในอัตราส่วนร้อยละ 70 เป็นของชาวไร่ ร้อยละ 30 เป็นของโรงงานน้ำตาล  ผลพลอยได้ไม่ว่ากากน้ำตาลหรืออื่นๆ อีกหลายอย่าง วันนี้สิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนเกิน สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าก็ได้ ถามว่ากำไรตรงนั้น ใครได้ โรงงานได้อีกแล้วแต่ถ้าชาวไร่อ้อย จะเห็นในส่วน 70%  อาจจะเป็นหนี้ขาดทุน

 

อย่างไรก็ตามในข้อมูลเบื้องต้นจากที่ประเมินอยู่แล้วในปีหนึ่งๆ มูลค่าเพิ่มผลพลอยได้ คาดไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ถามว่ากำไรนี้ไปอยู่กับผู้ประกอบการใช่หรือไม่ อยากจะให้แบ่งปันรายได้กลับคืนมาสู่ชาวไร่อ้อยบ้าง อย่าใจแคบ ทำบุญบ้าง เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ แล้วที่วันนี้สังคมอยู่ร่วมกันไม่ได้เพราะต่างคนต่างเอาเปรียบกัน ซึ่งต้องมาคุยกันว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไร วันนี้โรงงานนั่งบีเอ็มดับเบิ้ลยู แต่เกษตรกรผมขี่จักยาน ขับรถเก่าๆ เป็นภาพที่อยากจะเปรียบเทียบให้เห็น

 

 

นายอุบลศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลผลิตของสินค้าทุกตัว คนกำหนดคือผู้ผลิต แต่มีสินค้าเกษตรกรเท่านั้น ที่ผลิตแล้วจะต้องถามว่าเถ้าแก่จะให้เท่าไร แล้วเกษตรกรจะเป็นคนกำหนดราคาบ้างไม่ได้หรือ พร้อมที่จะเจรจาทั้งสองฝ่ายก็คือ เกษตรกร และโรงงาน โดยให้นำตัวเลขมากางโชว์ ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมควรจะมีทางออกอย่างไรเพื่อให้สองฝ่ายโดยพบกันครึ่งทางเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังคำกล่าวที่ว่า สงครามเวลาเกิดการรบไม่เคยสงบด้วยอาวุธ ต้องสงบลงด้วยการเจรจา