57 รง.น้ำตาลจี้เปิดหีบอ้อย ดันเศรษฐกิจหมุน 1.2 แสนล้าน ลุยเดินหน้าระบบเสรี

08 ต.ค. 2565 | 00:05 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2565 | 07:27 น.

โรงงานน้ำตาลจี้ เลขาฯสอน.-รัฐมนตรี 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ใช้อำนาจประกาศเปิดหีบอ้อย ดันเศรษฐกิจหมุนเวียนอีก 1.2 แสนล้าน ชี้หากไม่กล้าเตรียมเดินหน้ายื่นศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว ให้โรงงานเปิดหีบเอง ยันไม่ขอร่วมบริหารจัดการอ้อยตาม พ.ร.บ.ใหม่ ปลดบ่วงรัฐรอบ 38 ปี

จากที่ประชุม 57 โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ได้มติเห็นพ้องกันในการกำหนดวันเริ่มเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยโรงงานเห็นพ้องกันที่จะกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเองเป็นครั้งแรกในรอบ 38 ปี ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 (เดิมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายราชการ ผู้แทนฝ่ายชาวไร่อ้อย และผู้แทนฝ่ายโรงงาน ร่วมกันกำหนดราคา) เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศที่ตันละ 1,040 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือตันละ 1,200 บาท ที่ค่าความหวานเฉลี่ย 12.61 ซี.ซี.เอส.

ทั้งนี้เป็นผลจากโรงงานน้ำตาลประกาศไม่เข้าร่วมบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่คาดจะประกาศบังคับใช้ปลายปีนี้ หลังในร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ได้เพิ่มคำว่า “กากอ้อย” รวมในบทนิยาม “ผลพลอยได้” โดยให้ถือเป็นรายได้ของระบบด้วย ซึ่งในเรื่องนี้โรงงานน้ำตาลได้คัดค้านมาโดยตลอด โดยระบุว่าขัดกับหลักการข้อตกลงเดิมระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงาน และในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทางโรงงานก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ล่าสุดกรรมการผู้แทนจากฝ่ายโรงงานในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และในคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯได้ลาออกแล้ว ส่วนคณะกรรมการอื่น ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการลาออก

 

นายโกศล โพธิ์สุวรรณ กรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุด 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือลงนามถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) (หรือกรมอ้อยและน้ำตาลทราย)เพื่อให้ใช้อำนาจพิจารณากำหนดวันเริ่มต้นหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายฤดูการผลิต 2565/2566 หลังคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ไม่มีตัวแทนจากฝ่ายโรงงาน ทำให้อาจถูกใช้เป็นเหตุผลหรือข้ออ้างทำให้ กอน.ไม่สามารถประกาศเปิดหีบอ้อยได้

 

“ทั้งนี้หากเลขาธิการ สอน.ไม่กล้าใช้อำนาจสั่งเปิดหีบอ้อย หรือนำเรื่องหารือรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์) แล้วทั้งเลขาธิการ หรือรัฐมนตรีไม่ใช้อำนาจในการประกาศวันเริ่มต้นหีบอ้อยฤดูการผลิตใหม่ ที่ปกติทุกปีจะประกาศเปิดหีบในเดือนพฤศจิกายน เราจะใช้เหตุผลที่เขากล่าวอ้างถึงว่าเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถประกาศเปิดหีบอ้อยได้ เช่น กรรมการไม่ครบก็แจ้งมา เพื่อที่เราจะเอาหนังสือตรงนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณาให้การคุ้มครองชั่วคราว ให้โรงงานสามารถเปิดหีบอ้อยได้”

 

อย่างไรก็ดีนับจากนี้โรงงานจะเข้าสู่ระบบการค้าเสรี ภายใต้กฎกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) เลิกพึ่งกลไก และระเบียบกฎเกณฑ์ของรัฐที่ยังให้การอุดหนุนอุตสาหกรรม ที่เสี่ยงถูกคู่แข่งขันเช่นประเทศบราซิล และประเทศอื่น ๆ ฟ้อง อาจนำมาซึ่งการถูกใช้มาตรการกีดกันหรือตอบโต้ทางการค้า ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายมีผลมาตั้งแต่ปี 2561 ถือเป็นการปล่อยตามกลไกตลาดเสรีแล้ว ก็ไม่ควรมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่กำหนดอัตราให้โรงงานน้ำตาลที่ขายในประเทศต้องนำเงินส่งกองทุนฯ เพื่อมาชดเชยรายได้ของระบบ รวมถึงการใช้กลไกต่างๆ มาควบคุมดูแลที่เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนอีก

 

57 รง.น้ำตาลจี้เปิดหีบอ้อย ดันเศรษฐกิจหมุน 1.2 แสนล้าน ลุยเดินหน้าระบบเสรี

 

ด้าน นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการบริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) หรือผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า เนื่องจากเวลานี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และคณะกรรมการอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โรงงานและชาวไร่อ้อยคู่สัญญาซึ่งมีความร่วมมือกันด้วยดีอยู่แล้วจะร่วมมือกันบริหารอุตสาหกรรมนี้ต่อไป โดยโรงงานจะสนับสนุนส่งเสริมชาวไร่อ้อยปลูกอ้อยส่งโรงงานและมีการทำสัญญาซื้อขายอ้อยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และจะกำหนดราคาอ้อยอย่างเป็นธรรม โดยใช้วิธีการคำนวณคล้ายระบบเดิม

 

 โดยหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น โรงงานจะรับผิดชอบส่วนต่างเอง และหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าราคาขั้นต้น โรงงานจะจ่ายส่วนต่างเพิ่มให้ชาวไร่อ้อย

 

“เนื่องจากรายได้หลักของอุตสาหกกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาจากน้ำตาลทรายส่งออกเป็นหลัก และบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ที่เป็นองค์กรทำหน้าที่ทำราคาส่งออกอ้างอิงสำหรับคำนวณราคาอ้อย มีการทำราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออก ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไปแล้วเพียงร้อยละ 50 อีกทั้งโรงงานก็ได้ทำการประกันราคาอ้อยขั้นต่ำไปแล้ว หากโรงงงานไม่สามารถบริหารจัดการการส่งออกได้ ก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงจะได้เร่งรัดให้ อนท. ทำราคาน้ำตาลทรายดิบส่วนที่เหลือให้ได้ในระดับสูงที่สุด หรือหากฝ่ายโรงงานจะนำมาบริหารจัดการทำราคาส่งออกเองในอนาคต ซึ่งจะได้พิจารณาแนวทางดำเนินการ รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมายในสัญญาและข้อตกลงที่จัดกับ อนท. ก่อน”นายรังสิต กล่าว

 

57 รง.น้ำตาลจี้เปิดหีบอ้อย ดันเศรษฐกิจหมุน 1.2 แสนล้าน ลุยเดินหน้าระบบเสรี

 

ด้าน นายนพพร ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด และบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า จากที่โรงงานได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565 /2566 ที่ตันอ้อยละ 1,040 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือ 1,200 บาทต่อตัน ที่ค่าความหวานเฉลี่ย 12.61 ซี.ซี.เอส ที่กำลังรอภาครัฐประกาศเปิดหีบอ้อย ทั้งนี้หากไม่มีการเปิดหีบอ้อย หากคิดที่ผลผลิตอ้อยที่ 100 ล้านตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 1,200 บาท จะคิดเป็นมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาทที่จะเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการเปิดหีบอ้อย ดังนั้นจึงขอให้เร่งดำเนินการเพื่อทุกฝ่ายจะได้เตรียมการต่อไป ทั้งนี้เสียงจากชาวไร่อ้อย หากได้ราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันเขาอยู่ได้และมีกำไร

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3825 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม 2565