ในวาระที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในปี 2565 นี้ ไทยได้ชูแนวคิดเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) เป็นพื้นฐานสำคัญที่สอดคล้องกับธีมหลักของงานประชุมในปีนี้ ซึ่งก็คือ “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”
แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ยังได้รับการบรรจุเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2564 มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model และได้มีการนำแนวคิด BCG Model มาเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ด้วย ในบทความนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงความสำคัญและการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของโมเดลเศรษฐกิจ BCG
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นรูปแบบการจัดการระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีการวางแผนให้ทรัพยากรในระบบสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและ/หรือนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด
รูปแบบนี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากเศรษฐกิจเชิงเส้นตรง (Linear economy) ในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้ทรัพยากรเพียงทางเดียว คือ การนำทรัพยากรจากธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งาน และเมื่อหมดประโยชน์แล้วก็จะถูกนำไปทิ้งเป็นขยะ (Take-make-dispose) ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติจากการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาขยะที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการสกัดและแปรรูปวัตถุดิบใหม่
ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เกิดการเจริญเติบโต บนฐานการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบเชิงลบให้เหลือน้อยที่สุด จึงได้รับการสนับสนุนจากผู้ดำเนินนโยบายและนักวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังจะเห็นได้จากนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยและการผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในหลายประเทศทั่วโลก อาทิเช่น ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป
ถึงแม้ว่าประเทศต่างๆ จะเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่จากรายงาน The Circularity Gap 2022 พบว่ากว่าร้อยละ 90 ของทรัพยากรที่นำมาใช้งานไม่ได้กลับคืนเข้าสู่กระบวนการผลิตแต่จะกลายเป็นขยะ และมีเพียงร้อยละ 8.6 ของเศรษฐกิจ โลกเท่านั้นที่อยู่ในรูปแบบที่สอด คล้องกับวิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน
จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ อุปสรรคสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดจากการที่โครงสร้างระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่จูงใจให้เกิดพฤติกรรมการผลิต และการบริโภคที่เอื้อต่อการหมุนเวียนทรัพยากร สำหรับวัสดุเทคนิค เช่น พลาสติก การผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากวัสดุใหม่ (virgin material) ถูกกว่า และง่ายกว่าการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล
สำหรับวัสดุชีวภาพ เช่น อาหาร การทิ้งอาหารที่รับประทานไม่หมดทำได้ง่ายกว่าการส่งต่ออาหารเหล่านั้นให้แก่ผู้ยากไร้ หรือการนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยหมัก เมื่อต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรแบบเส้นตรงถูกกว่าต้นทุนจากการหมุนเวียนทรัพยากร ทั้งจาก เทคโนโลยีที่มีการพัฒนามานานกว่า หรือจากโครงสร้างพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจที่ถูกสร้างมาให้สอดคล้องกับวิถีเศรษฐกิจเชิงเส้นตรงมากกว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงทำได้ยาก
จากการศึกษาของผู้เขียนภายใต้การสนับสนุนทุนจากมูลนิธิฟรีดริค แอแบร์ท ประเทศ ไทย (FES Thailand) พบว่า การสร้างแรงจูงใจให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจำเป็นต้องมีการกำหนดกติกาต่างๆ (ซึ่งภาษาวิชาการเรียกว่าโครงสร้างทางสถาบัน) ที่สนับสนุนทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งควรทำอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ครอบคลุมผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และรวมถึงผู้บริโภค
ยกตัวอย่างเช่น การจัดการวัสดุชีวภาพ เช่น อาหาร เพื่อให้เกิดการใช้งานทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ควรสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร ซึ่งอาจทำได้โดยการกำหนดเป้าหมายการลดการสูญเสียอาหารในแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน
กำหนดให้การลดการสูญเสียอาหารเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการอาหาร (โดยเฉพาะรายใหญ่) สร้างแรงจูงใจให้เกิดการแจกจ่ายอาหารส่วนเกินให้แก่ผู้ยากไร้โดยการสร้างสื่อกลาง/ตัวกลางในการรับมอบอาหารส่วนเกินเพื่อส่งต่อ
กำหนดเกณฑ์ด้านสุขอนามัยของอาหารที่นำไปบริจาค ส่งเสริมให้ผู้บริโภคลดขยะอาหารผ่านการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์แนวปฏิบัติต่างๆ และเมื่อเกิดขยะอาหารขึ้นแล้วควรส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะอาหารออกมา เพื่อที่จะนำไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้แล้วการส่งเสริมนวัตกรรมทั้งด้านรูปแบบธุรกิจและด้านเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการหมุนเวียนทรัพยากรก็เป็นสิ่งสำคัญ
หากสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นระบบและครอบคลุมแล้ว เป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ