ในขณะที่เรากำลังถกเถียงเรื่องความเหลื่อมลํ้าในการถือครองที่ดินและนโยบายภาษีของภาครัฐ หากมองในแง่ประวัติ ศาสตร์ยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น จุดประสงค์ของการถือครองที่ดิน เป็นเรื่องของการใช้ชีวิต อยู่อาศัย และการทำกิน โดยราษฎรสามารถจับจองที่ดินเพื่อทำการเกษตรได้ไม่เกินกำลัง การผลิตของครัวเรือน ซึ่งแตกต่างจากการตักตวงถือครองที่ดินในปัจจุบัน ที่เป็นปัญหาในขณะนี้
เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ เราสามารถเข้าใจความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยก่อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่า คนกลุ่มไหนที่สามารถเข้าถึงการใช้ที่ดินได้ภายใต้ระบบสิทธิในที่ดินแบบดั้งเดิมของไทย และครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถตอบสนองความต้องการเพื่อการยังชีพใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้หรือไม่
โดยบทความนี้ใช้ข้อมูลเจาะจงไปที่กรรมสิทธิ์ที่ดินสวนผลไม้จากข้อมูล “ต้นขั้วโฉนดสวน” ของพิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน โดยการออกโฉนดอย่างเป็นทางการนั้นเป็นผลของการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 โฉนดต้นขั้วนั้นได้รับการออกระหว่าง ค.ศ. 1884-89 ให้กับราษฎรที่จับจองที่ดินทำกินมีสิทธิดั่งเดิมอยู่แล้ว ก่อนการขุดคลองรังสิต กฎหมายที่ดินสมัยใหม่และค่านิยมการกว้านครอบครองที่ดินของคนหมู่น้อย
ข้อมูลต้นขั้วโฉนดสวนของราษฎรยังเผยรูปแบบบรรทัดฐานการถือครองที่ดิน ภายใต้ระบบสิทธิในที่ดินตามประเพณีดั้งเดิมของสยาม โดยปัจเจก บุคคลสามารถอ้างสิทธิ์จับจองที่ดินที่ไม่ได้ใช้ หรือ ถูกทิ้งร้างได้อย่างอิสระ สามารถอ้างเหตุผลในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร
โดยขนาดของที่ดินที่สามารถจับจองได้จะจำกัดที่กำลังความสามารถของครัวเรือน ในการเพาะปลูกเท่านั้นไม่สามารถจับจองมากกว่ากำลังการผลิตได้ ราษฎรมีสิทธิในที่ดินตราบเท่าที่: 1) จ่ายภาษีที่ดินเป็นรายปี และ 2) เจ้าของใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรตามที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน
ข้อมูลโฉนดทางการนี้ ยังบันทึกรายละเอียดของลักษณะที่ดิน ที่ตั้ง ขนาดของที่ดิน และภาษีผลผลิต รวมถึงข้อมูลของเจ้าของ ระดับสังคม เพศ สถานะสมรส ซึ่งทำให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดได้
แน่นอนว่าการปลูกข้าวเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในสมัยก่อน ทั้งในการค้าระหว่างประเทศและการบริโภคในท้องถิ่น แต่การเกษตรในสวนผลไม้การปลูกหมาก ทุเรียน มะม่วง และพืชผลอื่นๆ ก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับครัวเรือน ที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น
จากการสำรวจสำมะโนประชากร ค.ศ. 1883 ซึ่งเป็นทะเบียนบ้านที่สร้างขึ้นเมื่อก่อตั้งระบบไปรษณีย์ของสยาม มีครัวเรือนทั้งหมด 4,406 ครัวเรือนหรือ 26% จากทั้งหมดซึ่งมีอาชีพทำสวนเป็นหลัก นี่แสดงให้เห็นว่าการทำสวนเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดกิจกรรมหนึ่งสำหรับราษฎรใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
ภายใต้ระบบสิทธิในที่ดินตามประเพณีของไทย ที่ให้สิทธิราษฎรในการจับจองที่ดินทำกินเพื่อการหาเลี้ยงยังชีพ ระบบนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย โดยเราพบว่า 83.4% ของเจ้า ของที่ดินเป็นราษฎรไทยท้องถิ่น และมีเพียง 7% ของเจ้าของสิทธิที่เป็นจากขุนนาง หรือ ข้าราชการ นอกจากนี้ เราพบว่าเจ้าของ 9.4% เป็นชาวจีนอพยพ รุ่นแรกหรือรุ่นที่สอง
นี่แสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบบสิทธิในที่ดินแบบดั้งเดิมเพื่อการเกษตรกรรมตามกำลังของครัวเรือนนั้น เปิดโอกาสและสร้างผลผลิตให้กับสังคมไทยในวงกว้าง
และในเมื่อที่ดินสวนผลไม้ส่วนใหญ่อยู่ในมือของสามัญชน ก็ทำให้เกิดคำถามว่า การผลิตจากที่สวน สามารถรองรับความต้องการในการยังชีพของครัวเรือนได้หรือไม่ เพื่อตอบคำถามนี้ เราคำนวณกำไรจากแต่ละสวนโดยพิจารณาจากข้อมูลภาษีที่ระบุไว้ในแต่ละโฉนด เรายังประเมินด้วยว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่จากฐานปี 1890 เพื่อซื้ออาหาร เสื้อผ้า และสิ่งจำเป็นอื่นๆ
โดยปลายศตวรรษที่ 19 ครัวเรือนทั่วไปในสยามมีประชากรเฉลี่ย 6.2 คน เราพบว่าสองในสามของสวนผลไม้ในข้อมูลโฉนดนั้น สามารถเลี้ยงดูครอบ ครัวทั่วไปได้ ซึ่งบ่งชี้ว่า การทำสวนผลไม้เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับครัวเรือนในศตวรรษที่ 19
มากกว่านั้นรูป แสดงให้เห็นว่า สวนผลไม้รอบๆ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และ สมุทรสงคราม ยังให้ผลผลิตเป็นพิเศษ หากดูตามสีที่เข้มขึ้น โดย เลี้ยงดูได้มากกว่า 10 ถึง 51 คนในแต่ ละที่สวน นี่แสดงว่าชาวไทยท้องถิ่นและชาวไทยจีนอพยพ สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างสบายในเมืองไทย เหนือมาตรฐานระดับการยังชีพพื้นฐานในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
โดยสรุป ระบบสิทธิในที่ดินแบบดั้งเดิมของสยาม ที่ให้ประชาชนสามารถจับจองที่ดินทำเกษตรได้โดยจำกัดที่กำลังการผลิตในแต่ละครัวเรือน ช่วยให้สามัญชนชาวไทย และครัวเรือนผู้อพยพชาวจีน เข้าถึงที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีประสิทธิผล
ที่ดินสวนผลไม้ที่แสดงในตัวอย่างโฉนด แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่สามารถรองรับความต้องการในการยังชีพอย่างสุขสบายได้ โดยอาศัยผลผลิตจากสวนผลไม้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงคาดเดาได้ว่า กลไกของระบบสิทธิในที่ดินตามประเพณีแบบดั้งเดิมของสยาม ที่ให้ราษฎรจับจองที่ดินเพียงกำลังการผลิตส่งผลดีต่อสวัสดิการของสังคมไทยโดยรวม