ขณะนี้ (23 กันยายน 2565) ทาง Fed ได้มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 3.00-3.25% และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เราก็กำลังจะประชุมปลายเดือน ทุกๆ ครั้งที่เฟดมีการประชุมและประกาศนโยบาย ทั่วโลกต่างจับตาว่าจะเกิดอะไรขึ้นเพื่อปรับตัวไปตามนโยบายของเฟด
เราเห็นข่าวค่าเงินเยนญี่ปุ่นและปอนด์สหราช อาณาจักรอ่อนตัวลงอย่างมากเป็นประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับค่าเงินในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยกว่าสหรัฐ ตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลที่ปรับตัวลงมหาศาล และยังมีคำถามที่ว่าเงินดอลลาร์จะยังคงเป็นตัวกำหนดมูลค่าสินค้าในโลกอีกหรือไม่
ในเมื่อมีภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก จากทั้งวิกฤตสงคราม การสะดุดของห่วงโซ่อุปทานโลก ฯลฯ เงินดอลลาร์ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบและสินค้าด้วยราคาเดิมได้อีก แถมยังมีหลากหลายประเทศที่เปลี่ยนมาใช้ค่าเงินอื่นในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดโลก จากการที่รัสเซียโดนกีดกันในชาติตะวันตก เราคงต้องมาถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตของระบบการเงินโลก และจุดยืนของเมืองไทยเราควรอยู่ตรงไหนในขณะที่เศรษฐกิจเราพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศผลิตสินค้าเพื่อส่งออกอย่างมาก
ดีเบตที่กำลังเป็นที่สนใจในทางวิชาการที่สามารถจะตอบคำถามนี้ ก็คือความหมายในทางเศรษฐศาสตร์ของ “เงิน” โดยปรกติตามตำราเท็กซ์บุ๊กทั่วไปก็จะบอกว่าเงินมีฟังก์ชัน 3 อย่าง
1. ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange)
2. ตัวเก็บมูลค่า (store of value)
3. หน่วยวัดมูลค่า (unit of account)
แต่ในขณะนี้ทฤษฎีการเงินที่กำลังมาแรงกว่าเพื่อนเพิ่มความหมายของเงินเข้าไปว่าเป็น
4. ตัวแทนของ “ความน่าเชื่อถือและการจ่ายหนี้” (credit and debt)
โดยเครดิต หรือ ความน่าเชื่อถือนั้น เป็นความหมายหลักที่สำคัญ และอาจจะเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อเงินไปเลย เนื่องเพราะแม้เงินจะถูกใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน วัดและเก็บมูลค่าสำหรับแต่ละปัจเจก
แต่ในอีกด้านหนึ่งเมื่อเราดูในภาพรวมระบบใหญ่นั้น “เงิน” ถูกบัญญัติออกมาจาก สถาบันส่วนกลางและมีความยึดโยงกับความเป็นรัฐ เราจะเห็นว่าธนาคารกลางมีอำนาจในการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลถึงตลาดและระบบด้วยรวม โดย Perry Mehrling นักเศรษฐศาสตร์การเงินคนสำคัญของฝั่งซ้ายอเมริกา อธิบายให้เราฟังว่าเงินนั้นมีลำดับชั้นของมันอยู่
หนึ่ง คือ ระบบอาจจะมองเงินเป็นเรื่องของข้อจำกัดและระเบียบ (scarcity and discipline) ยกตัวอย่างเช่น การที่ธนาคารกลางมีข้อจำกัดในการเพิ่มจำนวนสำรองของโลหะมีค่า หรือ การที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนไม่สามารถพิมพ์ธนบัตรเองได้มีกฎระเบียบควบคุม นี่แสดงให้เห็นว่าเงินนั้นมีข้อจำกัดในการขยายตัวและมี ระเบียบขั้นตอน โดยเราสามารถนำเงินมาใช้จ่ายเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนได้แต่เงินนั้นมีจำนวนจำกัด
สองในอีกด้านของระบบก็จะเห็นว่า เงินเป็นเรื่องของความยืดหยุ่น (elasticity) ที่เราสามารถขยายจำนวนเงินได้จากความน่าเชื่อถือ โดยยกตัวอย่างง่ายๆ ในลำดับขั้นที่ตํ่าสุดเลย คือ การหยิบยืมเงินจากคนรอบข้าง (IOU, I Owe You) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากเรามีความน่าเชื่อถือเพียงพอ คนอื่นจะมาขยายจำนวนเงินให้เรานำไปใช้
อย่างเช่น การขอยืมจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูง หรือใหญ่ขึ้นมาในระดับสถาบันการเงินก็เป็นสัญญาทางการเครื่องมือทางการเงินต่างๆที่มองลึกๆไปแล้วก็อยู่ในรูปแบบของการหยิบยืม IOU เช่นเดียวกัน กลายเป็นว่าเงินมีความหมายในลักษณะทางสังคมที่เป็นความสัมพันธ์จากการเชื่อถือเชื่อใจด้วย
ระบบการเงินนั้นแท้จริงแล้วเป็น การบริหารสมดุลระหว่างข้อจำกัด scarcity กับความน่าเชื่อถือ credit นี้
นี่เป็นทฤษฎีที่มองต่างออกไปจากความคิดในกระแสหลัก เราอาจจะได้ยินวาทกรรมมามากมาย เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ระบบการเงิน ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน ต้องมีสิ่งมีค่าที่เป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยน
แต่แท้จริงแล้วการแลกเปลี่ยนในดึกดำบรรพ์นั้น เริ่มมาจากหยิบยืม นำสิ่งของไปบอกว่าจะนำมูลค่ามาคืน เป็นสัญญาของธรรมเนียมประเพณี แสดงถึงความเคารพไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งก็แปลความได้ว่าต้นกำเนิดของระบบการเงินนั้นคือการติด “หนี้” หรือ แปลตามวัฒนธรรมไทยหน่อย ก็คือ หนี้บุญคุณที่เรามีต่อกันนั่นเอง (ดู David Graeber’s Debt: the First 5000 Years)
นี่เป็นการเน้นยํ้าว่า แท้จริงแล้วเงินนั้น อาจจะมีอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือ ความน่าเชื่อถือและหนี้ (credit and debt) เราจะสามารถตอบคำถามเรื่องอนาคตของดอลลาร์และระบบการเงินโลกได้ จากความเข้าใจความหมายของเงินนี้ โดยเฉพาะในโลกที่ผันผวนและต้องการความยืดหยุ่น ระบบต้องการตัวประมวลผลที่มีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองความต้องการ การแลกเปลี่ยนในระบบโลกได้
ในขณะนี้โลกมีวิกฤตทางเศรษฐกิจจากโควิด สงครามการเมืองระหว่างประเทศ พลังงาน เงินเฟ้อ ฯลฯ มีการพยายามหาเงินตัวกลางการแลกเปลี่ยนใหม่สำหรับระบบโลก อย่างเช่น เงินคริปโต
การที่จีนผลักดันค่าเงินหยวน หรือการที่รัสเซียพยายามให้ชาติต่างๆ ใช้รูเบิลซื้อพลังงานของเขา นี่ทำให้เกิดคำถามที่ว่าค่าเงินดอลลาร์นั้นจะยังเป็นเงินสกุลหลักที่นานาประเทศยังต้องสำรองใช้อยู่ในระบบโลกได้หรือไม่ จะมีระเบียบโลกใหม่ที่ประเทศมหาอำนาจอื่นและชนชั้นนำมาตกลงสร้างขึ้นกันใหม่อีกหรือเปล่า
Mehrling นั้นเชื่อว่า เงินดอลลาร์นั้นจะยังอยู่กับเราต่อไป เพราะเงินนั้นเป็นตัวประมวลผลที่ขึ้นกับความน่าเชื่อถือตามทำนองที่เกิดขึ้นเองในระบบ การมาประชุมตกลงกันอย่างเงียบๆ โดยคนชนชั้นนำหมู่น้อยอย่าง Bretton Wood นั้นคงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
ในประวัติศาสตร์ที่เงินดอลลาร์ขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลกนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพราะการที่เงินปอนด์สเตอร์ลิ่งหมดความชอบธรรม ไม่มีชาติไหนสนับสนุนในขณะนั้น การประชุมเบลตตันวูดเกิดขึ้นมาอัตโนมัติโดยไม่ได้นัดหมายเพื่อหาระเบียบใหม่ สามารถสรุปความหมายแบบนี้ว่า “เงิน” เป็นสิ่งที่เกิดขึ่นมาจากข้างใน (endogenous money) ตามธรรมชาติ
ก็คงต้องดูว่าระเบียบโลกเสรีจะยังมีความชอบธรรมอยู่หรือใหม่ นานาชาติยังสนับสนุนปรัชญาเสรีนิยมอยู่หรือเปล่า หากเป็นอย่างนั้น ดอลลาร์ก็คงจะยังเป็นเงินสกุลที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ แม้อัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับขึ้นไปอีก เพื่อสร้างข้อจำกัดและระเบียบในการควบคุมเงินเฟ้อ แต่แท้จริงแล้วเราอาจจะมองเงินดอลลาร์เป็นเครื่องมือสาธารณะ (public goods) ชั้นดีในระบบโลก ที่ช่วยในการประเมินผลแลกเปลี่ยน
การที่ Fed เองออกมาปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เพื่อความมั่นคงของสกุลเงินนั้น อาจมองได้ว่า เป็นการเสียสละ มีความเสี่ยงที่อเมริกาจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ในขณะที่ประเทศรอบข้างอย่างเราๆ สามารถฉวยโอกาสนี้ปรับดอกเบี้ยควบคุมเงินเฟ้อให้น้อยกว่านโยบายเฟด ไม่ต้องไปแบกรับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเหมือนอเมริกาเขา
ผู้เขียนนำเนื้อหาและอ้างอิงมาจากข้อมูลด้านล่าง
https://wayback.archive-it.org/all/20121221065503/http://ieor.columbia.edu/files/seasdepts/industrial- engineering-operations-research/pdf-files/Mehrling_P_FESeminar_Sp12-02.pdf
https://en.wikipedia.org/wiki/Debt:_The_First_5000_Years
https://www.bloomberg.com/news/audio/2022-09-09/zoltan-pozsar-and-perry-mehrling-debate-the-dollar-podcast
https://www.theguardian.com/business/2022/sep/12/the-fed-interest-rate-rises-us-inflation-unemployment-recession