ฤ ประเทศไทยกำลังจะประสบกับปัญหาอาชญากรรมแบบวางแผน?

19 พ.ย. 2565 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2565 | 16:59 น.

คอลัมน์เศรษฐกิจ 3 นาที โดย... ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ในสมัยเด็ก ผู้เขียนเคยเห็นภาพการก่ออาชญากรรมในลักษณะที่เป็นระบบ เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นองค์กร หรือที่เรียกกันว่า organized crime ได้มีการเติบโตอย่างแพร่หลายในยุคหนึ่ง เช่น กลุ่มยากูซ่าของญี่ปุ่น หรือกลุ่มมาเฟียของอิตาลี หรือ กลุ่มเจ้าพ่อของจีน ซึ่งเมื่อผู้เขียนได้เติบโตขึ้นพร้อมๆกันกับพัฒนาการของระบบการเมือง สังคมและตัวบทกฎหมาย และอาจรวมถึงพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ภาพของการก่ออาชญากรรมในลักษณะที่เป็นระบบเริ่มลดลง หรืออย่างน้อยเริ่มหายไปจากหน้าสื่อ สิ่งพิมพ์ต่างๆ สะท้อนว่าในระดับหนึ่งปัญหาได้เบาบางลงเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ผู้เขียนเริ่มได้รับข้อมูลการก่ออาชญากรรมที่น่าตื่นตระหนก เนื่องจากรูปแบบการก่ออาชญากรรมเริ่มกลับไปคล้ายคลึงกันกับปัญหาอาชญากรรมในลักษณะที่เป็นระบบแบบในอดีต ไม่จะเป็นข่าวการลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ การปรากฎตัวของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ๆ ก็มีข้อมูลส่วนตัวจนทำให้เหยี่อที่หลงเชื่อต้องสูญเสียเงินเป็นหลักร้อยล้าน การหลอกลวงค้าขายสินค้าโดยโยนความผิดไปให้จำเลยที่ยอมเปิดบัญชีเป็นทางผ่านของเงิน กรณีตั๋วเครื่องบินเถื่อนที่เอเย่นต์ออกตั๋วเครื่องบินให้จริงแต่กลับยกเลิกในภายหลังและเชิดเงินหนี หรือกรณีล่าสุดที่มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีพฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติ มีการผิดนัดไม่ชำระเงินซื้อหุ้นจนอาจจะทำให้โบรกเกอร์ต้องเข้ามาแบกรับการขาดทุนแทน

ในแง่หนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้ที่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่การวางแผนอย่างเป็นระบบ บางส่วนอาจจะเป็นแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือถูกแรงกดดันจากปัญหาต่างๆ เป็นการเฉพาะ ทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินการตามสัญญาได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีข้อมูลสนับสนุนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นระบบ เช่น กรณีของการลักพาตัวที่ต้องมีการเลือกเป้าหมาย และวางแผนในการจัดการ หรือ ในกรณีของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ที่เคยได้ยินมาว่า ผู้ที่ทำงานให้กับแก๊งค์บางส่วนไม่ได้ถูกบังคับ แต่มีความเชื่อที่ว่าเหยี่อก็คือเหยื่อ หากไม่ถูกเราโกง ก็จะถูกคนอื่นโกงอยู่ดี

 

ในมุมมองของผู้เขียน สิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับปัญหาการก่ออาชญากรรมแบบเป็นระบบ มีอย่างน้อย 2 ประการ ก็คือ หนึ่ง เนื่องจากกฎระเบียบและกฎหมายมีการกำหนดเป็นข้อความที่ตายตัว และมีการปรับปรุงที่ค่อนข้างช้า บางกฏหมายไม่ได้มีการปรับปรุงมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ในขณะที่มนุษย์เราเป็นสัตว์ที่มีการเรียนรู้ และยิ่งเรียนรู้อย่างรวดเร็วมากขึ้นทุกวันในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน การก่ออาชญากรรมแบบป็นระบบจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากยิ่งขึ้นโดยอาศัยช่องโหว่ของตัวบทกฎหมาย ช่องโหว่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปราม ไปจนถึงช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรม

สอง ในแง่ของอาชญาวิทยา ได้มีทฤษฎีที่ชื่อว่า “ทฤษฎีหน้าต่างแตก หรือ “broken windows theory” ซึ่งใจความสำคัญ ก็คือ หากสังคมมีสภาพแวดล้อมที่ผิดระเบียบและไม่ถูกจัดการ เช่น การที่ชุมชนหนึ่งๆ มีตีกหรือบ้านที่หน้าต่างแตก จะนำไปสู่ปัญหาในชุมชนที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะผู้คนเห็นว่าชุมชนนี้ไม่มีคนดูแล ไม่จำเป็นต้องใสใจเรื่องความเป็นระเบียบมากก็ได้ เฉกเช่นเดียวกัน หากผู้ที่กระทำความผิดสามารถที่จะหลุดพ้นไม่ได้รับผลลัพธ์จากการกระทำของตนเองมากขึ้น คนในสังคมก็จะสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและความยุติธรรมของประเทศ ซ้ำร้ายยังจะนำไปสู่แรงจูงใจให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชญากรรมที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายในการก่ออาชญากรรมอยู่แล้วด้วย

 

แม้ว่ารูปแบบการเกิดอาชญากรรมในช่วงหลังอาจจะยังไม่เข้าขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมอย่างเป็นระบบในทุกกรณีได้อย่างชัดเจน แต่ผู้เขียนก็หวังว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะไม่พิจารณาว่าอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียงกรณีปกติที่ระบบต่างๆ ที่มีอยู่สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องมีการพัฒนาอะไรมากมาย แต่ผู้เขียนอยากให้ภาครัฐได้ใส่ใจถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่อาชญากรรมที่เกิดขึ้นปัจจุบันและในอนาคตจะกลายเป็นปัญหาอาชญากรรมแบบวางแผน ซึ่งอาจจะต้องการกลไกการจัดการ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบและกฎหมายในลักษณะที่เป็นเชิงรุก (active) มากกว่าการปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายเมื่อพบกรณีปัญหาเกิดขึ้นในแต่ครั้ง หรือเป็นแบบเชิงรับ (passive)

 

ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ว่ารูปแบบอาชญากรรมที่เกิดขึ้นตามข่าวในระยะหลังนี้ จะเป็นสถานการณ์ที่ปกติทั่วๆไปหรือเป็นอาชญากรรมที่ก่อขึ้นอย่างเป็นระบบก็ตาม การพัฒนากลไกการจัดการและกฎระเบียบ/กฎหมายให้เป็นแบบเชิงรุกและทันสมัย จะสามารถช่วยป้องกันปัญหาอาชญากรรมได้ดีมากยิ่งขึ้น และทำให้สังคมไทยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาชญากรรมได้ในทุกรูปแบบ