*** ฉบับนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปงาน wealth forum ครั้งที่ 3 ที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกันจัดขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขามาชี้แนะชี้แนวการลงทุน การออม ให้เงินทำงานอย่างไร
*** ไปที่ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาพัฒน์ มาให้ข้อมูลภาพใหญ่ทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ปีหน้าไว้อย่างน่าสนใจ ปีนี้จีดีพีจะโตได้ 3.2 % แต่ในปีหน้าจะโตได้ 3-4 % ค่ากลาง 3.5 % มีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่แนวโน้มดีในแง่ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว การลงทุนภาคเอกชนจะเร่งตัวขึ้น มีนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาในไทยมากขึ้น จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์โลก เราเตรียมกฎระเบียบให้เอื้อการลงทุนด้วย นักลงทุน นักธุรกิจเข้ามาทำงานได้สะดวก มีแผนวีซ่าระยะยาวรองรับ ขณะที่การบริโภคในประเทศ จะพยุงเศรษฐกิจและผลักดันให้เดินหน้าได้รวมทั่งภาคการเกษตรที่ปริมาณน้ำกักเก็บมีเพียงพอ แต่ต้นทุนอาจสูงบ้างเรื่องปุ๋ย
***ความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งของต่างประเทศ เหมือนที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนก่อนหน้านี้ รวมทั้งเกาหลีเหนือ ที่มักทำอะไรไม่คาดคิด อีกความเสี่ยงเป็นหนี้ครัวเรือน ต้องแก้ต่อเนื่อง ต้องตระหนักรู้ความจำเป็นในการก่อหนี้ด้วย ความเสี่ยงถัดมาเรื่องโรคอุบัติใหม่ โรคต่อเนื่องจากโควิด ยังต้องติดตามและเกาะติดใกล้ชิด
*** การบริหารเศรษฐกิจ ต้องกระจายการลงทุนไปในระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ที่อนุมัติไว้แล้ว รวมถึงการเดินหน้าสนับสนุนผลิต “รถอีวี” อย่างเต็มกำลัง นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าตั้งฐานผลิตในไทยจำนวนมาก การผลิตชิปต้นน้ำ อาจต้องหามาตรการสนสับสนุนเพิ่มเติมจูงใจให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น สภาพัฒน์ต้องการเดินหน้าเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ
*** มุมมองการลงทุนการจัดพอร์ตลงทุนปี 66 สรพล วีระเมธีกุล จาก บล.กสิกรไทย ชี้ว่า 6 เดือนจากนี้จะเกิดการโตอีกมากในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยเดือนมีนาคมปีหน้า ดัชนีจะไปอยู่ที่ 1740 ที่ได้ประเมินไว้ มี 4 สาขาที่น่าสนใจ อันประกอบไปด้วย อาหารสัตว์ เทคซอส หรือ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี โรงไฟฟ้า และธุรกิจเสริมความงาม ใน 4 สาขานี้มีแรงเหวี่ยงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
*** ประมุข มาลาสิทธิ์ Head of CIO Office ธนาคารกรุงไทย ให้มุมมองตลาดลงทุนปีนี้ไม่ปกติ โดยปีนี้ถ้าลงทุนหุ้น 60 % ตราสารหนี้ 40 % จะขาดทุนหนักสุดในรอบหลายปี เพราะตัวตราสารหนี้ ธีมลงทุน 5-10 ปี ข้างหน้าอยู่ที่หุ้นขนาดเล็กที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ส่วนปีหน้าหุ้นสหรัฐปรับตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจ อาจทะยอยสะสมได้ เทรนด์อนาคต สินค้าโภคภัณฑ์ ดิจิตอล ธุรกิจส่งผลประโยชน์ภาวะแวดล้อม และต้องกระจายความเสี่ยง และปีหน้าจะเป็นปีแห่งหุ้นกู้ ตราสารหนี้โลก ควรทะยอยสะสม มีโอกาสแม้เศรษฐกิจชะลอแต่ผ่านไปได้
*** ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ บอกว่า การลงทุนตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนกำหนดล่วงหน้าว่าจะได้เท่าไร ระยะนี้หุ้นกู้ ตราสารหนี้ที่ออกมาในแนวทางสู่ความยั่งยืน หรือหุ้นกู้ประเภทกรีนบอนด์ จะเป็นแนวโน้มออกมามากขึ้น ผลตอบแทนชัดเจนมั่นคง
*** วรางคณา อัครสถาพร x spring digital มีมุมมองว่า สินทรัพย์ดิจิตอลมีหลากหลาย คริปโตเป็นเพียงตัวหนึ่ง มีดิจิตอล โทเคน ยูติลิตี้ โทเคน อินเวสเมนท์ โทเคน ลงทุนมีสินทรัพย์หนุนหลัง ออกสิริฮับที่ผ่านมา รายได้จากค่าเช่ามาแบ่งให้ผู้ถือเหรียญ ได้ดอกเบี้ย ส่วนต่างของเหรียญ ที่ผ่านมาโทเคนนี้โตไม่มาก แต่มีแนวโน้มดีในต่างประเทศ ผู้เล่นรายใหญ่ขยับเข้าไปหาอินเวสเมนท์โทเคน จึงมีการเติบโตอีกมาก ส่วนในตลาดไทยนั้นบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์ ได้รับใบอนุญาตตั้งตลาดแล้ว และผู้ได้ไลเซนส์ ไอพีโอพอทัล ขณะนี้ มี 7 รายแล้วจะมีขยายเพิ่มขึ้น อินเวสเมนท์โทเคนลงทุนไม่ยากและมีแนวโน้มเติบโตมาก ในปีหน้า คนมีความเข้าใจมากขึ้น ระบบภาวะแวดล้อมเปลี่ยน สินค้าที่ดีจะเข้ามาให้นักลงทุนเลือก
*** จีรยุทธ ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เจ้าของ bitkub แนะนำว่า ระยะสั้นเก็บเงินสดเยอะๆ อย่าเพิ่งลงทุน เพราะโลกเชื่อมมากกว่าที่คิด ฉะนั้นเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผ่านเข้ามาหากันเร็วมากขึ้น เทรนด์โลกไปที่เรื่องไคลเมตเชนจ์ การลงทุนกรีนโปรดัคส์จะมากขึ้น กรีนพรีเมี่ยม รถยนต์ ไฟฟ้าจะเข้ามา แน่นอนในระยะสั้น โลกจะเกิดปัญหาความมั่นคงอาหาร โลกจำเป็นต้องเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การลงทุนที่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ระยะสั้นไม่ได้หมายถึงลงทุนปีนี้ปีหน้า จากที่ศึกษาข้อมูลประชุมหลายเวทีเห็นตรงกันการลงทุนต้องมาในปี 2024 ไม่ใช่ 2023 และหลังจากนั้นการเติบโตเด่นจะอยู่ในภูมิภาคอาเซียนที่จะโตแบบก้าวกระโดดอีกรอบ
*** ภาวลิน ลิมปธงชัย ซีอีโอ ลิเบอเรเตอร์ แสดงความเห็นว่า มีคนเข้ามาลงทุนผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น “ลิเบอร์เรเตอร์” จะใช้ดิจิตอลในการทำงานทั้งหมด เป็นดิจิตอลโบรกเกอร์ เปิดบัญชีสามารถเทรดได้ทันที ไม่ได้มาแย่งตลาดโบรกเกอร์เดิม แต่จะเป็นช่องทางใหม่ ลูกค้า นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนผ่านระบบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวก ไม่มีค่าธรรมเนียม มีชุมชนถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูล มี AI สังเคราะห์ข้อมูล