เศรษฐกิจโลกถดถอย เครื่องยนต์ส่งออกเริ่มสะดุด

03 ธ.ค. 2565 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2565 | 00:02 น.

บทบรรณาธิการ

หลายสำนักออกมาประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไปในทิศทางเดียวกัว่าจะขยายตัวได้ราว 3-4% จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่จะกลับมาประมาณไว้ราว 22 ล้านคน การบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 รวมทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชนขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
 

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่จะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 2566 ที่ล้วนมาจากปัจจัยของค่าเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงทั่วโลก ที่เป็นผลจากราคาพลังงานที่ยังปรับตัวสูงต่อเนื่อง 


รวมถึงภาวะดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก ความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่สามารถหาบทสรุปได้ อีกทั้ง ปัจจัยความขัดแย้งทางรัฐภูมิศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจ ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมีการแบ่งขั้ว อย่าง สรัฐอเมริกา กับ จีน หรือ จีน กับ ไตหวัน เป็นต้น 

และเมื่อรวมปัจจัยมาตรการซีโร่-โควิด ของจีน ที่ยังมีการล็อกดาวน์ในอีกหลายเมือง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโลก ยากที่จะกลับมาขยายตัวได้
 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ให้เห็นว่า ความไม่แน่นอนภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์คู่ค้าต่างประเทศ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของไทยปี 2565 จาก 3.3% เหลือ 3.2% และปี 2566 อยู่ที่ 3.7% จาก 3.8% และ 3.9% ในปี 2567

ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น กำลังเป็นแรงกดดันการส่งออกของไทย ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า เพราะขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่า ภาวะส่งออกไทยเริ่มชะลอตัวลง สะท้อนจากเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกขยายตัวลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแน้วโน้มว่า 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะขยายตัวลดลงอีก จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 


ที่เห็นได้ในขณะนี้คู่ค้าในหลายประเทศ ชะลอการรับมอบสินค้า ที่สั่งซื้อออกไปแล้ว เพราะไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง จะมีกำลังซื้อเพียงพอหรือไม่
 

ล่าสุดเอง ธปท.ออกมาสะท้อน การขยายตัวการส่งออกของไทยในปื 2566 จะขยายตัวได้เพียง 1% จากปีนี้ที่คาดการณ์ขยายตัวได้ 7-8% ในขณะที่ผู้ประกอบการชี้ให้เห็นว่า การส่งออกปีหน้า หากไม่ติดลบ ก็ถือว่าโชคดีแล้ว
 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการของไทย ยังได้รับแรงกดดันจากภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง ราคาวัตถุดิบ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้น กำลังจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วย
 

ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตา คงต้องมาลุ้นตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ว่าจะเป็นอย่างไร หากได้เห็นตัวเลขที่ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอีก การจะพึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในปีหน้า อาจจะไปไม่ถึงตามที่คาดการณ์ไว้ได้