โผคณะรัฐมนตรี (ครม.) “เศรษฐา1” ลงตัว แต่หลายฝ่ายอาจมอง ว่าการวางคนกับกระทรวงดูเหมือนจะผิดฝาผิดตัวไปบ้าง แต่ในภาพรวมเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ที่ได้ “รัฐบาล” สร้างความเชื่อมั่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศกันเสียที
ที่ประชาชนทวงถามมากที่สุด “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” นโยบายพรรคเพื่อไทยหากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ใส่เม็ดเงินลงฐานรากกระชากเศรษฐกิจไทย ใน 6 เดือน จากกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คาดหมาย ไตรมาสแรกของปี 2567 หรือ วันที่ 1 มกราคม 2567 “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ต้องถึงมือประชาชน โดยสั่งการเป็นเรื่องเร่งด่วน ให้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขาธิการพรรคเพื่อไทยฐานะโฆษกคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เร่งสร้างกระเป๋า เงินดิจิทัล ขณะเดียวกันได้หารือกระทรวงการคลัง มองหาแหล่งเงินมาใช้ตามโครงการดังกล่าว
คนที่จะได้สิทธิ์ เงื่อนไขไม่ต้องลงทะเบียน เพราะระบบผูกกับบัตรประชาชน มีเงื่อนไข 2 ประการ คือ 1.ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ของทะเบียนบ้าน จะจับจ่ายซื้อหาอะไรก็ย่อมได้ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุปกรณ์ทำกิน หรืออนาคตจะขยายรัศมีใช้จ่าย หรือไม่ หรือใช้ข้ามจังหวัดหรือไม่ เพื่อกระจายเม็ดเงิน รอรับการท่องเที่ยว ต้องให้เวลาศึกษา
2. ระยะเวลา 6 เดือน จะใช้ครั้งเดียว หรือ ทยอยใช้ก็ย่อมได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างรวดเร็ว เหมาะสมกับสภาวะการณ์ของประเทศ
ที่กังวลมากที่สุด สำหรับ คนสูงอายุ ไม่มีโทรศัพท์มือถือจะทำอย่างไร ล่าสุดมีคำตอบไม่ต้องซื้อ แค่ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวกับโค้ดส่วนตัวมาใช้แทนได้ แต่ใครที่แอบซื้อไว้ล่วงหน้าก็ไม่ต้องเสียใจส่งคืนโทรศัพท์ให้ลูกหลานไว้ใช้เองได้
นโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” เริ่มมีเสียงสะท้อน ว่า เงิน ก้อนมหึมาถึง 5.6 แสนล้านบาท จะมาจากไหน บางรายต่อต้านว่าเป็นเงินภาษีของพวกเขา บางหน่วยงานห่วงจะไม่กระจายลงเศรษฐกิจฐากรากได้จริง แต่จะถูกกับดักของกลุ่มนายทุนอย่างห้างสรรพสินค้า
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมา “ฟันธง” นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท มาจากงบประมาณ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ) เพิ่ม 3-4% หากนำมาใช้ในปีหน้าจะช่วยให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวได้ราว 5-7% ภายใต้สมมติฐานการส่งออกของไทย ขยายตัวได้ 3-5% ด้วยพื้นที่ทางการคลังที่รัฐบาลสามารถเพิ่มระดับการขาดดุลต่อจีดีพีโดยไม่กระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศ ที่ราว 4% ต่อจีดีพี ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อจีดีพี ขณะระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% จากเพดาน 70% ต่อจีดีพี จะทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้
เสนอว่า รัฐบาลควรทยอยใส่เม็ดเงินของโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดทั้งปี อาจกำหนดให้ใช้จ่ายได้ครั้งละ 3 พันบาทต่อรอบ เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท จะหมุนเวียนเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็น 1-1.5 ล้านล้านบาท อาจออกแบบการใช้แบ่งเป็นงวดๆ ละ 3 พันบาท กระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีเงื่อนไขซื้อเฉพาะสินค้าไทย เรื่องนี้ทำให้นึกถึงสโลแกนเก่าๆ “ไทยทำ-ไทยใช้-ไทยเจริญ” เพราะเงินไม่รั่วไหล ไปกับสินค้าต่างประเทศ เพียงเท่านี้ก็กระชากเศรษฐกิจไทยไปได้นานกว่า 6 เดือนแล้ว!!!