เมื่อโลกผ่านพ้นการระบาดโควิด 19 แต่ยังคงเจอกับเรื่องท้าทายที่ซุกอยู่ใต้พรมสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาการเข้าถึงสาธารณสุข เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือ Healthcare ถึงแทรกซึมอยู่ในทุกธุรกิจ โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าธุรกิจ Healthcare เป็นธุรกิจการสร้างโรงพยาบาลเอกชน แต่ในโลกของธุรกิจ Healthcare นั้นมีหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ เช่น ธุรกิจยารักษาโรค ประกันสุขภาพ เทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นต้น
ผมขอชวนทุกท่านโฟกัสไปที่ภาคอีสานในเรื่องโอกาสทางธุรกิจ Healthcare ถ้าเราเริ่มจากการวิเคราะห์ถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นั่นก็คือ การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนในภาคอีสาน จะพบว่าภาคอีสานมีอัตราการเข้าถึงระบบสาธารณสุขน้อยที่สุดในประเทศน้อยกว่ากรุงเทพมหานครที่มีอัตราการเข้าถึงมากที่สุดถึง 3 เท่า
ฐานข้อมูลด้านสังคมและคุณภาพชีวิตในปี 2564 แสดงให้เห็นว่าภาคอีสานมีจำนวนเตียงต่อหัวประชากร คือ 1 เตียงต่อประชากร 496 คน และจำนวนผู้ป่วยในมีถึง 2,766,718 คน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ถ้ามองลึกในระดับจังหวัดก็มีความแตกต่าง ในด้านการกระจายตัวไม่เท่ากัน ในทำนองเดียวกับความมั่งคั่งที่รวยกระจุกจนกระจาย แม้จะอยู่ในภาคเดียวกันก็ตาม โดยมากพื้นที่ตั้งโรงเรียนแพทย์ในจังหวัด มักทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์มีมากกว่า
ผมชวนมองในอดีต โอกาสการพัฒนาด้านสาธารณสุขในภาคอีสาน ถูกผลักดันจากการลงทุนด้านศึกษาทางการแพทย์ เป็นตัวกระจายการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลขั้นสูง แต่ในปัจจุบันองค์ประกอบของระบบนิเวศทางด้านสาธารณสุขมีมากกว่าโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ คนจำนวนไม่น้อยที่แออัดเพื่อการเข้าถึงการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขณะที่บริการการแพทย์ในเชิงปฐมภูมิ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลสถานีอนามัย ที่เป็นจุดตั้งต้นในการตรวจวินิจฉัยและส่งต่อโรคที่ยากซับซ้อน มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในพื้นที่
ในมุมมองผมในแง่ของการลงทุนภาคเอกชน ยังมีโอกาสการลงทุนอีกมาก ถ้านโยบายรัฐเอื้อหรือสนับสนุนส่งเสริมโดยเฉพาะการผลักดันให้มี Esarn Medical Hub ที่ในภาคอีสาน ที่ผ่านมาหลายจังหวัดเป็นด่านหน้าในการรับชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับการรักษาที่สถานพยาบาลในไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมหาศาล เห็นได้จากช่วงที่มีการผ่อนปรนข้ามแดนหลังเปิดประเทศที่ผ่านมา อัตราส่วนผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา
เฉพาะที่เข้ามารักษาในเครือโรงพยาบาลพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ต่อเนื่อง เดือนละไม่ต่ำกว่าหลายพันราย นอกจากนี้มีหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนต่างชาติให้ความสนใจ ทั้งเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำบุญประเพณี ทำให้ภาคอีสานเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ตอบโจทย์การเป็น Medical Tourism โดยเฉพาะธุรกิจ Health and Wellness อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นธุรกิจสุขภาพในเชิงการรักษา หรือเชิงป้องกัน ข้อจำกัดทางด้านรายได้ต่อหัวประชากร อาจเป็นอีกข้อจำกัดส่วนหนึ่งที่ทำประชากรในภาคอีสานเข้าถึงบริการสาธารณสุขเอกชนที่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับภาครัฐ ซึ่งในมุมมองผมแล้วปัจจุบันหลายทุกธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเน้นปรับเปลี่ยนการให้บริการลงทุนด้านเทคโนโลยีและใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพื่อบริหารจัดการภายในทั้งยังลดต้นทุนและสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของคนในพื้นที่ไม่ใช่เพียงแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้น
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,818 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2565