Localization คือการพัฒนาสินค้าหรือบริการในระดับท้องถิ่น (local) เพื่อไปสู่ความเป็นสากล (globalization) ตัวอย่างเช่น การออกแบบเสื้อผ้าจากผ้าไหมหรือผ้าพื้นเมือง หรือ การออกแบบกระเป๋าจากเสื่อกกหรืองานจักรสาน ด้วยแพทเทิร์นที่มีความร่วมสมัยหรือความทันสมัยมากขึ้น
เราทราบกันดีว่าประเทศไทยนั้นมีศิลปวัฒนธรรมและงานหัตถกรรมที่งดงาม หากแต่การนำเสนอยังขาดความน่าสนใจและความหลากหลาย ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของสินค้าหรือบริการท้องถิ่นของไทยจึงจำกัดวงอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบ กลุ่มผู้ใหญ่ หรือกลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือพักอาศัยในประเทศไทย ด้วยการออกแบบแพทเทิร์นที่ยังมีความล้าสมัย และการตั้งราคา (pricing) ที่สูงเกินไปในสินค้าหรือบริการท้องถิ่นบางประเภท จึงทำให้คนไทยหรือเยาวชนไทยไม่ได้ให้ความสนใจหรือชื่นชอบเท่าที่ควร
แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการชาวไทย เริ่มมีความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการออกแบบสินค้าของตนด้วยการวางแผนธุรกิจ (business plan) และการวางตำแหน่งสินค้า (positioning) โดยการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาปรับปรุงและพัฒนาสินค้าให้มีความร่วมสมัยหรือความทันสมัยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
แบรนด์เสื้อผ้า NATA fashion ที่นำผ้าไหมหรือผ้าพื้นเมืองมาออกแบบชุดได้อย่างสวยงาม จนได้รับการคัดเลือกให้ออกแบบชุดสำหรับ Miss Grand International 2022 ทั้ง 10 คน หรือ แบรนด์กระเป๋า Chaksarn ที่นำเสื่อกกธรรมชาติทอมือมาตัดเย็บเข้ากับหนังแท้ได้อย่างมีความทันสมัย จนเป็นที่กล่าวขานของชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากแบรนด์ไทย 2 แบรนด์ที่ยกตัวอย่างมานั้น ยังมีธุรกิจรายย่อย (SMEs) อื่นๆ อีกหลายรายที่ต่างหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อยกระดับภูมิปัญญาไทยให้มีความน่าสนใจและความหลากหลาย รวมถึงการตั้งราคาที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มคนไทยส่วนใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งการนำ digital marketing เข้ามาใช้ในการสร้าง content เพื่อนำเสนอสินค้าของตน ยังมีส่วนช่วยให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายขยายไปยังกลุ่ม Gen Z ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น Localization จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเรื่องยากเกินไปสำหรับคนไทย เราอาจไม่ต้องเริ่มผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ (upstream) แต่เราสามารถมีส่วนช่วยชาวบ้านที่ทำงานหัตถกรรมแหล่านี้ในการนำมาปรับปรุงโดยการออกแบบ (midstream) เพื่อให้การนำเสนอสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (downstream) สามารถเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เกิดการหมุนเวียนเมล็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ เป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนอีกด้วย
ภาพ: https://stock.adobe.com/th/search/images?filters%5Bcontent_type%3Aphoto%5D=1&filters% 5Bcontent_type%3Azip_vector%5D=1&filters%5Bcontent_ type%3Aimage%5D=1&k=thai+craft&order=relevance&safe_search=1&search_page=1&search_type=usertyped&acp=&aco=thai+craft&get_facets=1&asset_id=329740494
อ้างอิง: https://www.techtarget.com/searchcio/definition/localization
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,844 วันที่ 15 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565