“ส่งออก”กู้ชีพเศรษฐกิจไทย “จุรินทร์-เอกชน” พระเอกตัวจริง

29 มิ.ย. 2564 | 22:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 11:01 น.

“ส่งออก”กู้ชีพเศรษฐกิจไทย “จุรินทร์-เอกชน” พระเอกตัวจริง : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3692 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นเสนอ ขอเพียงมุ่งมั่นที่จะทำ ไม่ท้อแท้กับปัญหาที่เกิดขึ้น  เราก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้

วิกฤติไวรัสโควิดที่รุมเร้าประเทศไทยและโลกมายาวนานร่วม 2 ปี จนบัดป่านนี้แทบทุกประเทศเจอภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จากกำลังซื้อที่ลดลง

แต่ประเทศไทยกลับเจอโอกาสทอง เป็นโอกาสทองที่เราต้อง “ปรบมือ”ให้กับ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์  คณะทำงาน บรรดาผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่ไม่ย่อท้อสามารถแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างดิบดี จนตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่าถล่มทลาย 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทนั้น จะสูงลิ่วถึง 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัวมากถึง 41.59%

ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปีเศษ เมื่อคิดจากเปอร์เซ็นต์ของการขยายตัว ยอดการทำมาหาได้จากการส่งออกนั้นเคยทำสูงกว่านี้มา ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 โน่น...

ตอนเดือน เม.ย.2564 นั้นผมก็ไชโยไปรอบหนึ่ง เพราะถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว ส่งออกได้ราว 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.09% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน นับจากเม.ย.2561

และหากย้อนไปในเดือน มี.ค.2564 การส่งออกของไทยก็ทำได้ดีมีมูลค่า 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว  8.47% เมื่อเทียบเดือน มี.ค. 2563 และสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561

ถ้าย้อนไปดูการส่งออกของไทยเดือน ก.พ 2564 อยู่ที่ 20,219 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.59 % เดือนม.ค.2564 อยู่ที่ 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.35%

ตอนนั้นหลายคนบอกว่า เศรษฐกิจไทยท่าทางจะเดี้ยงไปไม่ถึงไหนแน่นอน เมื่อหัวรถจักรหลักในการหาเงินเข้าประเทศจากการส่งออกใน 2 เดือน ทำได้แค่ระดับ 39,925 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น

ระยะเวลาผ่านไป 3 เดือน เหตุการณ์กลับตาลปัตร เพราะเมื่อดูมูลค่าการส่งออกรวม 5  เดือน (ม.ค.-พ.ค.2564) พบว่า มีมูลค่า 108,635.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวรวมกัน 10.78%

อะแฮ่ม....5 เดือนผู้ส่งออกของไทยทำเงินเข้าประเทศแล้ว 3,474,154.34 ล้านบาท มากกว่า “งบประมาณแผ่นดิน” แล้วนะครับ อันนี้ผมไม่นับรวมการส่งออกน้ำมัน ทองคำ อาวุธยุทโธปกรณ์นะ

แสดงว่า ในแต่ละเดือนเราส่งออกได้เดือนละ 21,727.04 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ “เกินค่ามาตรฐานการส่งออกของไทย” ที่ทำได้เฉลี่ยแค่เดือนละ 21,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แล้วละพี่น้องเอ๋ย...

ขอบอกนะครับ ขอบอก...ลำพังการทำยอดส่งออกให้ได้เดือนละ 21,500-22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในยามภาวะเศรษฐกิจปกตินั้น บรรดาผู้ส่งออกต่างก็เปิดแชมเปญเลี้ยงโต๊ะจีนกันแล้ว เพราะเป็นสัญญาณของความมั่งคั่งทางธุรกิจ

ถ้าทำยอดแบบนั้นได้ หมายถึงความกินดีอยู่ดีของประเทศ เพราะจะมีเงินไปสั่งซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบมาขยายกำลังการผลิต และนั่นหมายถึงว่า การส่งออกของไทยจะเติบโตได้ปีละ 8-10% แน่นอน แต่ตอนนี้การส่งออกของไทยทะลุเป้ากระจายไปแล้ว

เมื่อภาคการส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 70% ของจีดีพีไทย ขยายตัวได้ดีแบบนี้ จึงน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมดีขึ้น ลองถ้าภาคการส่งออกไม่ขยายตัวแบบนี้สิครับ รับประกันเศรษฐกิจไทยปีนี้เดินไปไม่ถึงไหน เป้าที่บอกว่าจะขยายตัว 2.6% นั้น ฝันไปเถอะ

คราวนี้เรามาดูว่า เหตุผลสำคัญมันคืออะไรที่ทำให้การส่งออกไทยขยายตัวมากขนาดนี้ และถ้าเราบริหารจัดการดีต่อไป จะหนุนส่งให้คนไทยโล่งขึ้นผมไปถามพ่อค้า ในสมาคมผู้ส่งออกสินค้าทางเรือฯ มา 4 คน เขาบอกผมว่าแบบนี้ครับ...

 1. เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตลาดหลัก สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี ไต้หวัน เอเชียใต้ อาเซียน มีออร์เดอร์เข้ามามากจนผลิตกันไม่ทัน นี่ถ้าไม่ติดโควิด และไม่ติดปัญหาค่าระวางเรือกับค่าตู้คอนเทนเนอร์ เราคงทำได้ดีกว่านี้อีก

 2. การทำงานร่วมกันระหว่างพ่อค้าผู้ส่งออกกับภาครัฐในกระทรวงพาณิชย์มีความใกล้ชิดกระชับทำให้รู้เขา รู้เรามากขึ้น ผิดกับเมื่อ 2 ปีก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด

3.กระทรวงพาณิชย์กับเอกชนมีการกำหนดแผนการส่งออกและแผนปฏิบัติอย่างจริงจัง ผ่านกระบวนการทำงานในรูปของคณะกรรมการร่วมภาครับและเอกชน หรือ กรอ.พาณิชย์ ทำให้สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทำได้รวดเร็ว 

4.ปัญหาการขนส่งสินค้าชายแดน สินค้าข้ามแดน มีการจัดการได้รวดเร็วกว่าในอดีต ทำให้สินค้าเกษตรและอาหาร ผัก ผลไม้แช่เย็น ผลไม้ สินค้าเกษตรแช่แข็ง ไม่เน่าเสีย

5. สินค้าอุตสาหกรรมของไทย ในกลุ่ม รถยนต์ อุปกรณ์ และ ส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เริ่มกลับมาฟื้นตัวจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสําคัญ เฉพาะรถยนต์นั้นถือว่า ยอดถล่มทลายโตขึ้นกว่า 180%

6.การปรับตัวของผู้ส่งออกและเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่เข้ามาเกื้อหนุนในการกิจกรรมการเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ (Online Business Matching) ระหว่างผู้นําเข้า ผู้จัดจําหน่าย กับผู้ส่งออกไทย โดยมีทูตพาณิชย์ เป็นเซลส์แมนประสานกับผู้นําเข้าในต่างประเทศกับผู้ส่งออกไทย ทำให้การค้าขายเปิดกว้างออกไป ซึ่งกิจกรรมนี้ถือว่าทำได้ดีมากๆ

 สุดท้ายผู้ส่งออกบอกผมว่า หน่วยงานของรัฐมีการประสานงานที่ดีทำให้สินค้าเกษตร และผลไม้ของไทย กลายเป็นพระเอกในตลาดโลก ที่ต้องการสินค้าในหมวดอาหาร ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ผมมีโอกาสสัมภาษณ์คุณจุรินทร์ ก็ทำให้เห็นภาพที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงการทำงานในเชิงรุกเพื่อขยายตลาดผู้ซื้อในตลาดโลก ผมถาม คุณจุรินทร์ ไปว่า ทำอย่างไรการส่งออกจึงโตแบบน่าสนใจมากท่ามกลางวิกฤติโลก คุณจุรินทร์บอกว่า “ผมทำหลายเรื่อง ประเด็นหลักคือ ผมทำจริง ผมลงลึก..ไล่จากการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ส่งออกลดภาระค่าบริการ หน้าท่าลง 1,000 บาทต่อตู้ ซึ่งช่วยลดภาระต้นทุนให้แก่ผู้ส่งออก

ต่อมาได้ทำการปลดล็อกให้เรือขนาดใหญ่ 400 เมตร สามารถเข้าเทียบท่าที่ ท่าเรือแหลงฉบังได้ ตามที่เอกชนต้องการ เพื่อสามารถนําตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาคราวละมากๆ และสามารถรับสินค้าส่งออกของไทยไปยังปลายทางได้เลย โดยไม่ต้องถ่ายลงเรือเล็กที่สิงคโปร์อีกทอดหนึ่ง ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง  

ที่สำคัญคือ ผนึกกําลังกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการขับเคลื่อน นโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ผ่านกยุทธศาสตร์ “ตลาดนําการผลิต” โดยกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยผลิตมีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรที่มี คุณภาพ มีนวัตกรรม และ มีความปลอดภัย ตามความต้องการของตลาดโลก ไม่ใช่ต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างทำ

นี่จึงเป็นที่มาของการขายสินค้าเกษตรกในตลาดโกลที่เติบโตก้าวกระโดด

ต่อมาได้มีการจัดตั้ง กรอ.พาณิชย์ ขึ้นอย่างเป็นทางการ เป็นเวทีให้ภาคเอกชนได้นําเสนอปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกต่อผมโดยตรง เพื่อสั่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากมีผู้แทนของทุก กระทรวงพาณิชย์แล้ว ยังมีกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย EXIM Bank

สุดท้ายคือ การใช้กลไกการตลาดในทุกรูปแบบ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ไฮบริด และ การนํานวัตกรรมทางการตลาดใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น การริเริ่มโมเดลการโชว์สินค้าโดยไม่ต้องไปในงานแสดงสินค้า การจัดให้มีการเจรจา การค้าผ่านระบบออนไลน์ ให้ผู้ซื้อในต่างประเทศสามารถสัมผัสสินค้าจริง และผู้ส่งออกไทยยังสามารถเจรจาการค้าได้

อันนี้ถือว่าได้ผลมาก ทำให้คู่ค้าที่กำลังมองหาสินค้าที่ดี มีโอกาสเห็นและเจรจาการซื้อขาย ทำให้ออร์เดอร์เพิ่มแม้ว่าการเดินทางจะมีขีดจำกัด...สะท้อนว่า แนวทางที่คุณจุรินทร์ทำกับเอกชนที่วิเคราะห์ออกมานั้นคล้ายกันมาก...

โจทย์ที่ท้าทายคุณจุรินทร์และคนไทยอย่างมากคือ จะรักษามาตรฐานการส่งออกให้ก้าวกระโดดแบบี้ไปได้อีกนานแค่ไหน!