เมื่อหลายปีก่อน ผมจำได้ว่าผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวจีนไต้หวัน ท่านได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายได้น่าประทับใจมากๆ โดยในช่วงสูงวัยของท่าน ท่านได้รวบรวมเอาเพื่อนที่คบหากันอยู่หลายท่าน ไว้ในชมรมที่ท่านได้ก่อตั้งขึ้น ทุกๆเดือนก็จะนัดพบกัน และรวมตัวกันไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆที่ไม่ซ้ำกัน อีกทั้งเดินทางไปโดยไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นที่ใด แต่ส่วนใหญ่จะไปในที่ห่างไกลและทุรกันดาร เมื่อไปถึงหมู่บ้านไหน ก็จะทำการช่วยเหลือชุมชนในสิ่งที่ชุมชนนั้นๆขาดแคลน หรือที่เรียกว่าบริการชุมชน (Community service) นั่นเอง เป็นการสร้างความสุขด้วยการให้ ซึ่งเป็นการสร้างความสุขให้กับหมู่คณะของท่านเองด้วย ถ้าเป็นทางพุทธศาสนา ก็เรียกว่าเป็นการทำบุญกุศลนั่นแหละครับ เพราะบุญก็คือการได้ความสุขใจครับ ไม่ต้องรอให้ถูกหวยล็อตเตอรี่ถึงจะเรียกว่าได้บุญหรอกนะครับ แค่เราทำอะไรที่มีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ ผมก็คิดว่าเป็นการได้บุญแล้วครับ
มาเล่าต่อถึงคุณหมอท่านนี้ต่ออีกนิดนะครับ ท่านรวมตัวกันจนกระทั่งในชมรมของท่านมีความรักใคร่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ท่านก็คิดว่าการมีกัลยาณมิตรในวัยชรา และสามารถที่จะรวมตัวกันอยู่เป็นหมู่คณะได้ นับว่ามีบุญวาสนานำพามาให้พบเจอกัน ถ้าภาษาไทยใหญ่เรียกว่า “มีน้ำหยาดต่อกัน”นั่นเอง ดังนั้นกลุ่มของท่านจึงได้เดินหน้าสร้างในสิ่งที่ท่านคิดว่า น่าจะเป็นปลายทางเดียวกันและจะอยู่ร่วมกัน เมื่อเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ ก็จะพบทำเลที่ท่านพึงพอใจ ท่านจึงมีดำริว่าน่าจะสร้างสุสานที่นั่น เพื่อเอาใว้ฝังศพเมื่อสมาชิกในชมรมเสียชีวิตหรือได้ลาจากโลกนี้ไป ก็ไปรวมกันที่สุสานดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นสถานที่สุดท้ายในตอนที่ไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ไปแล้วนั่นเอง และจะมีความสุขมากแค่ไหน ถ้าได้รู้ก่อนในขณะที่ตนเองยังมีลมหายใจอยู่ว่า เมื่อเราไม่สามารถรับรู้อะไรได้แล้ว ร่างอันไร้วิญญาณของเราจะถูกฝังไว้ในที่ที่เราเองเป็นผู้กำหนด และเรายังมี “เพื่อนตาย” นอนอยู่ในหลุมฝังศพใกล้ๆเรา เรียกว่ามีบุญวาสนาร่วมกันตั้งแต่ยังมีลมหายใจ จนกระทั้งตัวเองไม่หลงเหลือความรู้สึกอีกเลย เออนะ.....ช่างคิดและน่ารักดีนะครับ
ผมเชื่อว่าในอดีตชาวจีนเราเองก็มีความเชื่ออยู่เรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะชาวจีนรุ่นเก่าๆ ที่มีความเชื่อเรื่อง “แซกี” หรือหลุมฝังศพของตนเองสร้างไว้เพื่อตนเอง ในขณะที่ยังไม่เสียชีวิต ผมเคยเห็นคหบดีที่มีฐานะร่ำรวยชอบทำกัน โดยมากจะทำในที่ๆตนเองครอบครองอยู่ แล้วสร้างฮวงจุ้ย(อันที่จริงเขาจะไม่เรียกฮวงจุ้ยเ เพราะยังไม่มีศพอยู่ในนั้น แต่เขาจะเรียกว่าแซกีครับ) เพื่อเป็นการต่ออายุของตนเอง ตามความเชื่อของคนเก่าก่อน ส่วนตัวผมกลับคิดต่างจากท่านไปอีกนิดหน่อยนะครับ ผมคิดว่าคนโบราณที่สร้างแซกีนั้น เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจตนเอง ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไป ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจัง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ จะมีแต่คำสอนของพระพุทธองค์ ที่กล่าวถึง “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” เท่านั้นที่เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนครับ
ในความคิดของผมแล้ว ผมคิดว่าคงไม่ต้องถึงกับรอให้ถึงวันนั้น แล้วค่อยมาอยู่ร่วมกันก็ได้ครับ เราเอาวันที่เรายังมีลมหายใจอยู่นี่แหละ เป็นวันที่เราควรจะแสวงหาความสุขให้มากที่สุด เมี่ออายุมากขึ้น เราไม่ต้องไปสร้างแซกีไว้เตือนสติเราหรอกครับ เราต้องรู้จักประมาณตนไว้ตลอดเวลา ตัวผมเองมักจะเตือนตัวเองตลอดว่า เราเหลือเวลาที่จะอยู่ในโลกใบนี้ไม่มาก ผมคิดว่าตัวผมเองอาจจะเหลือไม่เกิน 728 สัปดาห์เท่านั้น หรือถ้าจะคิดเป็นปีก็อีกประมาณสิบสี่ปีเท่านั้นเอง นั่นหมายความว่าผมต้องการมีอายุยืนไม่เกิน 80 ปีครับ เพราะถ้าแก่เกินไป แล้วต้องมาจมปลักอยู่กับความเจ็บป่วย หรือต้องให้ลูกหลานมาเสียบสายยางหรืออะไรเข้าไปในตัวเรา เราคงไม่สนุกสนานแน่นอนครับ ดังนั้นแค่นั้นก็คงจะเพียงพอแล้ว
แต่ชีวิตที่เหลืออยู่นั้น เราควรได้คบหากับเพื่อนที่เป็นคนดี และศีลเสมอกับเรานะครับ และจะต้องมีความสุข ไม่มีใครมาสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้เรา เพราะหากเราอายุมากแล้ว พอเรามีโทสะ โมหะ เกิดขึ้นในตัวเรา เผลอๆเราก็จะนอนไม่หลับ หรือเราอารมณ์ขุ่นมัวต่อไปอีกสามวัน-ห้าวัน จะทำให้เจ็ดร้อยกว่าสัปดาห์ที่เราเหลืออยู่บนโลกนี้ เสียหายไปด้วย นั่นไม่คุ้มค่าเลยครับ เราต้องให้วันที่เหลืออยู่นี้ อะไรที่อยากจะทำแล้วยังไม่ได้ทำ ก็รีบๆไปทำเสีย จงทำให้มีความหมายที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อมนุษย์ชาติ จึงน่าจะดีที่สุดครับ ดังนั้นเพื่อนที่คบหากันในบั้นปลายชีวิต นอกจากจะเป็นคนดีและศีลเสมอกันแล้ว เราต้องเป็นเพื่อนที่ไม่มีความโลภหรือความคิดเอาความได้เปรียบเสียเปรียบเป็นที่ตั้ง เพื่อนประเภทดังกล่าว เราก็ไม่ควรจะต้องไปทำให้เวลาที่เหลือสูญเปล่าไปกับเพื่อนเหล่านั้นครับ อยู่ห่างๆไว้จะดีกว่า แต่ถ้าเป็นเพื่อนที่เราคบหาแล้ว “ใช่เลย” นั่นแหละครับที่เราควรทุ่มเวลาให้กับเพื่อนเยอะๆครับ นี่คือความฝันของชายชราอย่างผม แล้วความสุขใจจะตามมาเองครับ