หลังจากที่บิ๊กเทคหลายรายโดนบทปรับและบทลงโทษเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่ไม่ถูกต้องล่าสุด ก็ถึงคิวของเทนเซ้นต์ (Tencent) พี่เบิ้มแห่งวงการเกมส์และสื่อสังคมออนไลน์ของจีน …
เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา State Administration for Market Regulation แห่งชาติจีนได้ปฏิเสธคำขอของ Tencent ที่ต้องการควบรวมกิจการเกมส์ไลฟ์สตรีมมิ่งชั้นนำอย่างหู่หยา (Huya) อันดับ 1 และ โต่วหยู (Douyu) อันดับ 2 ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับข้อกังวลใจในการผูกขาดตลาด
SAMR ชี้แจงว่า การควบรวมดังกล่าวจะทำให้ Tencent มีสถานะที่ดีขึ้นในตลาดเกมส์ออนไลน์ และอาจเพิ่มความสามารถและแรงจูงใจในการกำจัดคู่แข่งรายย่อย และทำให้ระดับการแข่งขันในตลาด ทั้งจากต้นน้ำ และ ปลายน้ำ ลดลง
"นี่จะไม่เป็นผลดีต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม และอาจส่งผลเสียไปยังผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมส์ออนไลน์ในอนาคต”
ขณะที่ Tencent กล่าวว่า บริษัทได้รับทราบผลการตัดสินใจดังกล่าวแล้ว และยินดีจะปฏิบัติตามผลการตัดสินใจและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
SAMR พบว่า Tencent มีสัดส่วนทางการตลาดมากกว่า 40% ของตลาดเกมส์ในจีน ซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุด ขณะที่ Huya และ Douyu รวมกันจะมีสัดส่วนการตลาดมากกว่า 70% ของตลาดเกมส์ออนไลน์โดยรวม
อันที่จริง Tencent ได้ถอนคำร้องการควบรวมกิจการเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และยื่นคำร้องใหม่เพื่อขอความเห็นชอบด้านกฎหมาย
อย่างไรก็ดี การประเมินผลของคณะกรรมการป้องกันการผูกขาดสะท้อนให้เห็นว่า แม้กระทั่งข้อเสนอใหม่ของ Tencent ที่นำเสนอแนวทางในการลดข้อจำกัดเดิม ก็ไม่อาจแก้ไขความห่วงใยในการผูกขาดได้มากพอ
อนึ่ง ในแง่ของผลประการ Douyu ที่ลิสต์ใน NASDAQ และ Huya ที่ขึ้นทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก มีรายได้รวมกันในไตรมาสแรกของปี 2021 ที่ 4,760 ล้านหยวน หรือประมาณ $720 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดย Huya และ Douyu มีมูลค่าตลาดรวมกันราว 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย Tencent ถือหุ้น36.9% ใน Huya และอีกมากกว่า 33% ใน DouYu
ทั้งสองบริษัทได้ลงนามในข้อตกลงการควบรวมผ่านการแลกกันถือหุ้นระหว่างกันเมื่อเดือนตุลาคม 2020 โดย Huya จะเข้าไปถือหุ้นทั้งหมดของ Douyu
ขณะเดียวกัน Tencent ก็คาดว่าจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ถึง 67.5% ในบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมกัน
คำตัดสินในครั้งนี้นับเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่รัฐบาลจีนแสดงถึงจุดยืนในการตรวจเข้มและป้องกันการผูกขาดของธุรกิจแพล็ตฟอร์มออนไลน์ในจีน
นับแต่ปลายปี 2020 ผู้คุ้มกฎของจีนได้มีบทลงโทษด้านการจัดการกับบิ๊กเทคของจีนมาอย่างต่อเนื่องรวม 44 กรณี ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการผูกขาด ทั้งในด้านซัพพลายเออร์และตลาดการบิดเบือนราคาและความไม่โปร่งใสในเรื่องข้อมูลผู้บริโภค
ทั้งนี้ อาบีบาบา (Alibaba) นับเป็นธุรกิจที่ถูกบทปรับมากที่สุด โดยเฉพาะบทปรับต่อพฤติกรรมการผูกขาด ที่โดนปรับเป็นเงินถึง 18,300 ล้านหยวน (ราว 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา
และเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา Alibaba และ Tencent รวมทั้งกิจการในวงการอีกจำนวนหนึ่งก็เพิ่งโดนบทปรับไปหมาดๆ
โดยรัฐบาลจีนพยายามสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิตัล และเสถียรภาพความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ การเงิน และอื่นๆ ในจีน
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของจีนก็ยังออกแนวปฏิบัติการป้องกันการผูกขาดฉบับใหม่ ที่มุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบและกำกับแพล็ตฟอร์มอินเตอร์เน็ต เพื่อให้มั่นใจว่า การแข่งขันของตลาดมีความเป็นธรรม และส่งเสริมนวัตกรรม และความแข็งแกร่งของการพัฒนาของอุตสาหกรรมนี้
นี่เป็นความมุ่งหวังที่จะขจัดพฤติกรรมการผูกขาดในเศรษฐกิจดิจิตัล และปกป้องการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดจีน
นี่เป็นอีกดาบที่รัฐบาลจีนกวัดแกว่งใส่บิ๊กเทคจีน นับแต่ปลายปีที่ผ่านมา คำถามคือใครจะเป็นรายต่อไป …
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน