เมื่อมังกรพ่นไฟ ใส่แบรนด์ตะวันตก (1)

22 เม.ย. 2564 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2564 | 11:22 น.

เมื่อมังกรพ่นไฟ ใส่แบรนด์ตะวันตก (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การจบการประชุมผู้แทนระดับสูงสายการต่างประเทศระหว่าง สหรัฐฯ กับ จีน ในช่วง 18-19 มีนาคมที่อลาสก้า ดูเหมือนจะส่งสัญญาณบ่งบอกถึงการลั่นกลองรบของทั้งสองฝ่าย อะไรเกิดขึ้นบ้าง เข้มข้นขนาดไหน เราไปติดตามกัน ...

ไฟสงครามการเมืองและเศรษฐกิจถูกขยายวงกว้างขึ้นในแทบจะทันที ทั้งสองฝ่ายได้วันเสาร์และอาทิตย์กลับไปหารือวางแผนขั้นถัดไป 

ประการแรก การปะทะกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตอบโต้กันไม่ได้จำกัดอยู่ระหว่างสองประเทศ แต่ขยายวงไปยังชาติพันธมิตร 

เช้าวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม แคนาดา อังกฤษ และประเทศอื่นในยุโรป ได้ประกาศมาตรการแซงชั่นเจ้าหน้าที่ของจีนจำนวน 4 คน ด้วยเหตุผลของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของยุโรปที่กำหนดมาตรการดังกล่าวในรอบกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา 

แต่จีนก็ออกมาก็ตอบโต้อย่างแทบจะทันทีทันควัน โดยประกาศแซงชั่นชาวยุโรปจำนวน 10 คน และอีก 4 องค์กรระดับภูมิภาคของยุโรป จีนให้เหตุผลว่า คนและองค์กรเหล่านั้นกระทำการที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่ออธิปไตยและผลประโยชน์ของจีน และมีเจตนาร้ายในการโกหกและให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับจีน

กิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันก็ได้แก่ การที่ หวัง อี้ รมต.ต่างประเทศของจีนได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับและประชุมความร่วมมือกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รมต.ต่างประเทศของรัสเซีย ในระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม ณ มณฑลกุ้ยโจว 

ในด้านหนึ่ง การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการลงนามในสนธิสัญญาเชิงยุทธ์และการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างสองประเทศ และในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ใช้เวทีนี้ในการประกาศต่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรว่า จีนไม่ได้ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว 

ภายหลังการประชุมดังกล่าว รมต.ต่างประเทศของรัสเซียได้แถลงว่า “ความยุติธรรม ความเป็นประชาธิปไตย และเสถียรภาพความมั่นคง เป็นหลักการสำคัญที่นานาประเทศควรยึดถือ” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการขององค์การสหประชาชาติ 

“ยิ่งโลกขาดเสถียรภาพ จีน และ รัสเซีย ยิ่งต้องยกระดับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น” ทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และความมั่นคง เหมือนอยากจะบอกกับชาวโลกว่า หากเกิดอะไรขึ้น รัสเซียจะยืนเคียงข้างจีน

ประการที่สอง มาตรการแซงชั่นที่สองฝ่ายตอบโต้กันไปมาจนฝุ่นตลบในเวลาต่อมา ก็มิได้จำกัดอยู่ระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น แต่ขยายวงต่อไปยังภาคธุรกิจ 

ยังไม่ทันฝุ่นที่รัฐบาลของชาติมหาอำนาจจะจางลง ในวันต่อมา แบรนด์สินค้าแฟชั่นและกีฬาของชาติตะวันตกก็ดาหน้ากันออกมาประกาศหยุดซื้อฝ้ายซินเจียง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยให้เหตุผลสอดคล้องกันว่าเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีน 

เมื่อมังกรพ่นไฟ  ใส่แบรนด์ตะวันตก (1)

H&M จากสวีเดน ดูเหมือนจะทำตัวเป็นหน่วยกล้าตายเหมือนเดิม เพราะเมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา บริษัทก็เคยโพสต์ข้อความในลักษณะคล้ายคลึงกันมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ในครั้งนั้น สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอาจประสานกันไม่เรียบร้อย กอปรกับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทำให้มีเพียง H&M ต้องรีบชักหัวกลับด้วยการลบข้อความที่โพสต์ไปไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น  

แต่ในครั้งนี้ หลายแบรนด์ตะวันตกมาตามนัด อันได้แก่ H&M, Burberry, Esprit, Calvin Klein, Zara, Tommy Hilfiger, GAP, Adidaz, Puma, New Balance, Under Armour, Nike, Converse เป็นต้น 

ขณะที่แบรนด์หลักของญี่ปุ่นอย่าง Muji และ Uniqlo ดูจะไม่กล้าแสดงจุดยืนที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะผลประโยชน์มหาศาลในตลาดจีน  

ในทางกลับกัน ก็มีบางแบรนด์ตะวันตกที่ปฏิเสธการเข้าร่วมกิจกรรมแซงชั่นในครั้งนี้ อาทิ Hugo Boss และ FILA  

เมื่อชาติตะวันตกผลักให้เอกชนออกมาเป็นหมาก จีนก็กระทำในลักษณะเดียวกัน เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการประกาศหยุดซื้อฝ้ายซินเจียงของแบรนด์ตะวันตกดังกล่าว เอกชนจีนก็ดาหน้ากันออกมาตอบโต้แบบสุดลิ่มทิ่มประตูเช่นกัน 

หลังจากนั้น ดูเหมือนแบรนด์ตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง H&M ดูจะเดินถลำลึกสู่ “หุบเหวแห่งความตายในโลกโซเชียล” ของตลาดจีนมากขึ้นทุกขณะ

ข้อความที่ H&M เคยโพสต์ไว้ในคราวก่อนกลายเป็นชนักติดหลัง ที่เน็ตติเซนจีนจำนวนมากเข้าไปขุดคุ้ยจากโลกโซเชียลมาตีแผ่ และแตกประเด็นกันไปมากมาย 

แพล็ตฟอร์มการค้าออนไลน์ชั้นนำของจีน อาทิ JD, Taobao, T-Mall, Pinduoduo และ Meituan ซึ่งเป็นช่องทางจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ที่มีบทบาทสูงในจีน ต่างพร้อมใจกันถอดแบรนด์ตะวันตกเหล่านั้นลง 

ขณะเดียวกัน แพล็ตฟอร์มบริการอื่นอย่าง Dazhong Dianping, Didi และ Baidu Map ที่มีบริการแผนที่จุดบริการในจีน ต่างปิดข้อมูลการค้นหาร้าน H&M เช่นกัน 

ส่งผลให้ผู้บริโภคในจีนไม่สามารถพิมพ์ค้นหาสินค้าภายใต้คำว่า “H&M” และ “HM” ใน Taobao.com และ JD.com ได้เลย ซึ่งก็เท่ากับว่าไม่สามารถหาซื้อสินค้าออนไลน์ของยี่ห้อเหล่านี้ได้ หาทำเลที่ตั้งของร้านไม่พบ และให้แท็กซี่ปักหมุดเพื่อพาไปส่งที่ร้านเหล่านี้ก็ไม่ได้เช่นกัน 

นี่ไม่นับรวมถึงการที่ หัวเหว่ย ประกาศเรียกเก็บค่ารอยัลตี้ในการใช้สิทธิบัตรโครงข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในสหรัฐฯ อาทิ ไอโฟน  

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนก็ยังประกาศจำกัดพื้นที่การใช้งานของรถไฟฟ้าเทสล่า ในพื้นที่ที่อ่อนไหวของจีน อาทิ พื้นที่ของกองทัพ และสถานที่ราชการอื่น ซึ่งทำเอาผู้บริโภคชาวจีนที่วางแผนจะซื้อรถเทสล่า หันไปมองหาแบรนด์อื่นกันเป็นแถว สองกรณีหลังนี้อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตอบโต้การแซงชั่นนัก แต่ก็มาถูกที่ถูกเวลาซะจริงๆ 

บ่ายวันที่ 24 มีนาคม H&M พยายามแก้ไขสถานการณ์โดยออกแถลงการณ์ที่มีใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบัน บริษัทมีความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในจีนมากกว่า 350 ราย ผลิตและส่งสินค้าออกไปขายทั่วโลกบนพื้นฐานของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ...(อ่านต่อฉบับหน้า)

 เกี่ยวกับผู้เขียน : ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564